นักดนตรีมากกว่า 1,000 คน รวมถึง เคท บุช และ แคต สตีเวนส์ ได้ปล่อยอัลบั้มที่ไม่มีเสียง (silent album) ในวันนี้ (25 ก.พ.) เพื่อประท้วงแผนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษ ซึ่งอาจเปิดทางให้บริษัทเทคโนโลยีใช้ผลงานของพวกเขาในการฝึกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายและจริยธรรมเกี่ยวกับโมเดล AI ที่สามารถสร้างผลงานของตัวเองได้ โดยใช้ข้อมูลจากผลงานยอดนิยมที่มีอยู่เดิมในการฝึกฝน โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์
อังกฤษซึ่งนายกรัฐมนตรี เคียร์ สตาร์เมอร์ ต้องการให้เป็นผู้นำด้าน AI นั้น กำลังเสนอให้มีการผ่อนปรนกฎหมายลิขสิทธิ์ซึ่งปัจจุบันให้อำนาจเจ้าของผลงานด้านวรรณกรรม การแสดง ดนตรี และศิลปะ ในการควบคุมการใช้ผลงานของตนเอง
ตามข้อเสนอใหม่นี้ นักพัฒนา AI จะสามารถใช้ผลงานที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมาฝึกโมเดลของตน โดยหากศิลปินไม่ต้องการให้ผลงานของตนถูกนำไปใช้ พวกเขาจะต้องแจ้งปฏิเสธเอง
การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากศิลปินหลายคน โดยพวกเขามองว่ามันจะเป็นการล้มหลักการของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ให้สิทธิ์เจ้าของผลงานในการควบคุมการใช้ผลงานของตนเอง
“โลกดนตรีในอนาคต เสียงของพวกเราจะหายไปหรือไม่” เคท บุชกล่าว โดยเพลงฮิตของเธออย่าง “Running Up That Hill” จากปี 2528 กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2565 หลังปรากฏในซีรีส์ Stranger Things ของ Netflix
อัลบั้มเงียบที่ใช้ชื่อว่า “Is This What We Want?” ซึ่งเป็นผลงานที่ทำขึ้นร่วมกันนั้น ประกอบด้วยเสียงจากห้องอัดและสถานที่แสดงที่ว่างเปล่า เพื่อสื่อถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออาชีพของศิลปิน หากข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติ
ทั้งนี้ การเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้จะสิ้นสุดลงในวันนี้ (25 ก.พ.)
รัฐบาลให้ความเห็นต่ออัลบั้มเงียบดังกล่าวว่า กฎหมายลิขสิทธิ์และกฎระเบียบเกี่ยวกับ AI ในปัจจุบัน กำลังขัดขวางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สื่อ และภาค AI ไม่ให้พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
“เรามีการพูดคุยกับภาคส่วนเหล่านี้มาโดยตลอด และจะดำเนินการต่อไป แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ ในตอนนี้” โฆษกรัฐบาลกล่าว พร้อมเสริมว่า ข้อเสนอของรัฐบาลจะถูกเปิดเผยในภายหลัง
ศิลปินที่ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนการนี้ใหม่ได้แก่ แอนนี เลนนอกซ์, บิลลี่ โอเชียน, ฮานส์ ซิมเมอร์, โทริ เอมอส และวงเดอะ แคลช
“ข้อเสนอนี้จะทำให้ผลงานตลอดชีวิตของนักดนตรีตกไปอยู่ในมือของบริษัท AI โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเปิดทางให้บริษัทเหล่านี้นำผลงานของนักดนตรีไปใช้แข่งกับพวกเขาเอง” เอ็ด นิวตัน-เร็กซ์ ผู้ก่อตั้ง Fairly Trained องค์กรไม่แสวงหากำไรที่รับรองมาตรฐานการใช้ข้อมูลฝึก AI อย่างเป็นธรรม กล่าว
“อังกฤษสามารถเป็นผู้นำด้าน AI ได้ โดยไม่ต้องทำลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับโลกของเรา”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 68)
Tags: AI, กฎหมายลิขสิทธิ์, นักดนตรี, ปัญญาประดิษฐ์, อังกฤษ