นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุผลของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กระตุ้นเข็ม 3 หลังได้รับวัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวค) มาแล้ว 2 เข็มเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน กลุ่มละประมาณ 60 คน (ก่อนหน้านี้เคยนำเสนอระยะห่าง 3 เดือนมาแล้ว) เป็นงานวิจัยทางคลินิก โดยดูผลการตอบสนองภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน
ทั้งนี้ ทำการศึกษาด้วยวิธีการคล้ายไวรัสเทียม และต่อไวรัสจริงสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอนที่แยกได้ในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก ดร.ฐนียา ดวงจินดา หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้ทำ FRNT ให้ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ตอบสนองได้ดีกว่า และน่าเชื่อถือมากกว่าไวรัสเทียม
สำหรับผลการศึกษา แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาแล้ว 2 เข็ม เมื่อกระตุ้นด้วยเชื้อตายอีก 1 ครั้ง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน ทั้งไวรัสจริงและไวรัสเทียม สู้การให้วัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) หรือ mRNA ไม่ได้ และในการกระตุ้นด้วย mRNA วัคซีนโมเดอร์นาตอบสนองภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีที่สุด สูงกว่าการกระตุ้นด้วยวัคซีนเชื้อตายถึง 22 เท่า
“โดยสรุปแล้วการกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไวรัสเวกเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) หรือ mRNA (ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา) ได้ผลดีต่อสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน และขณะนี้ก็ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับประเทศไทยอยู่แล้ว โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ ได้ส่งไปเพื่อเผยแพร่ในวารสารนานาชาติ และจะส่งเผยแพร่แบบ preprint MedRxiv วันนี้” นพ.ยง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 65)
Tags: Moderna, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีน mRNA, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนบูสเตอร์, วัคซีนเชื้อตาย, โมเดอร์นา