นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ถึงกรณีวัคซีนโควิด-19 กับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ โดยระบุว่า ตามวิวัฒนาการของไวรัส ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา
เราจะเห็นว่า มีการกลายพันธุ์ตั้งแต่ Alpha Beta Gamma Delta หรือแต่เดิมที่เราเรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) สายพันธุ์อินเดีย (Delta) วัคซีนส่วนใหญ่ทั้งหมดจะพัฒนาจากสายพันธุ์เดิม คือ สายพันธุ์อู่ฮั่น
สายพันธุ์อังกฤษ ยังไม่หลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนมากนัก, สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หลบหลีกได้มาก แต่ขณะเดียวกันอำนาจการกระจายโรคได้น้อยกว่า, สายพันธุ์ Delta หรืออินเดีย มีอำนาจการกระจายสูง และหลบหลีกภูมิต้านทานได้ แต่น้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ การมีอำนาจการกระจายสูงสายพันธุ์นี้ จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ และระบาดทั่วโลก จากเดิมเป็นสายพันธุ์อังกฤษ
ในทำนองเดียวกัน ในประเทศไทยแต่เดิมเป็นสายพันธุ์ G และก็โดนสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) ระบาดเข้ามา เกิดระบาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ขณะนี้เริ่มมีสายพันธุ์อินเดีย (Delta) เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในประเทศไทยอย่างแน่นอน สายพันธุ์เดลต้า ต้องการระดับภูมิต้านทานของวัคซีนที่สูงในการป้องกัน
เราจะเห็นการศึกษาในสกอตแลนด์ ถ้าเปรียบเทียบวัคซีนที่เปรียบเทียบระหว่าง วัคซีน Pfizer ที่ให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่า วัคซีน AstraZeneca ปรากฏว่าลดลงทั้ง 2 ตัว แต่วัคซีนที่ให้ภูมิต้านทานสูงลดลงน้อยกว่า
การป้องกันโรคเมื่อให้วัคซีนครบ 2 เข็ม หลัง 14 วัน ต่อสายพันธุ์เดลต้า พบว่า วัคซีน Pfizer ป้องกันได้ 79% วัคซีน AstraZeneca ป้องกันโรคได้ 60%
แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์อังกฤษ การป้องกันโรคจะอยู่ที่ 92% กับ 73% แต่ถ้าให้วัคซีนเข็มเดียวเปรียบเทียบกัน หลัง 28 วันไปแล้วการป้องกันของวัคซีน Pfizer จะอยู่ที่ 30% แต่ของ AstraZeneca จะอยู่ที่ 18%
ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน แสดงให้เห็นว่าการป้องกันโรคสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดียจำเป็นที่จะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าสายพันธุ์แอลฟาหรืออังกฤษ จากข้อมูลดังกล่าวถ้ามาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ขณะนี้ของเราส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ แต่ก็คงจะหนีไม่พ้นในอนาคตที่จะมีสายพันธุ์อินเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตามวิวัฒนาการของไวรัส
“การให้วัคซีนเข็ม 2 เข้ามาเร็วขึ้นของ AstraZeneca จะมีประโยชน์ในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ถ้ามีการระบาดของสายพันธุ์นี้เกิดขึ้น และมีแนวโน้มการป้องกันจะลดลง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และในทำนองเดียวกัน วัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่า ก็คงจะต้องใช้การกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้น เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ที่มีการระบาด”
เช่นเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และในการเปลี่ยนแปลงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในบางปีการคาดการณ์ก็ไม่ถูกเช่นเดียวกัน แต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน
“ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังดูสายพันธุ์ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสายพันธุ์อะไร และป้องกันไม่ให้สายพันธุ์เดลต้าระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อรอจำนวนวัคซีนที่จะมา และหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนในอนาคต ให้ตรงและจำเพาะกับสายพันธุ์”
นพ.ยง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Pfizer, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, ไฟเซอร์