นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาภาพรวมของโลก มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 3% แต่อัตราการตายลดลง 5% ทุกทวีปมีจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นหมด ยกเว้นอเมริกาใต้
ส่วนจำนวนเสียชีวิตนั้น เพิ่มขึ้นในยุโรป แอฟริกา และโอเชีเนีย การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการเริ่มกลับปะทุซ้ำในหลายประเทศ โดยสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งมีสมรรถนะในการแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อัลฟา (สหราชอาณาจักร) 55% (43%-68%)
นพ.ธีระ ระบุว่า วิกฤติการระบาดของไทยเรานั้นรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถคุมได้ ปัญหาหลักที่ทำให้ไม่สามารถจัดการได้ มาจากเรื่องนโยบายและมาตรการที่ออกมานั้นไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การระบาด ด้วยจำนวนติดเชื้อใหม่แต่ละวันมีจำนวนหลายพันคน คาดว่าอีก 2-3 สัปดาห์ถัดจากนี้ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงขีดจำกัด และจำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงขึ้นมากจนแตะหลักร้อยได้
ปัญหาที่น่ากังวล คือ กลไกการบริหารจัดการระดับนโยบายของหน่วยงานรัฐ รวมถึงคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานด้านวิชาการและที่ปรึกษา
ล่าสุด กรณีมีข่าวแพร่หลายตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เกี่ยวกับสรุปรายงานการประชุม ซึ่งมีมติการประชุมเรื่องการนำวัคซีน mRNA ที่ได้รับบริจาคมาจำนวน 1.5 ล้านโดสไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่เป็นที่เคลือบแคลงคือ การไม่นำไปให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยให้เหตุผลว่า “หากนำไปใช้ ก็แสดงถึงการยอมรับว่าวัคซีน S ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะทำให้แก้ตัวได้ยากขึ้น”
หากตรวจสอบแล้วเป็นจริง ก็เป็นตัวอย่างของมติการประชุมที่น่าอับอาย น่าอดสู เพราะเป็นเหตุผลที่ใช้เพื่อปกป้องการทำงานที่ผ่านมา ไม่อยากให้คนตราหน้าว่าผิดพลาด โดยมิได้มองถึงสถานการณ์ระบาดปัจจุบัน ที่บุคลากรด่านหน้าเผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิตระหว่างการปฏิบัติงาน
นี่คือปัญหาการขาดธรรมาภิบาล และมีส่วนในการอธิบายหายนะที่เรากำลังเผชิญอยู่
นพ.ธีระ ระบุว่า สิ่งที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ควรพิจารณาดำเนินการโดยด่วนคือ
1.การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ระดับกรม กระทรวง คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานวิชาการ และที่ปรึกษา ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและการควบคุมป้องกันโรค โดยกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล เอกสาร และประเมินผลลัพธ์ของการทำงาน รายงานโดยตรงต่อ ศบค.และนำเสนอต่อสาธารณะ โดยคณะกรรมการอิสระนี้ควรประกอบด้วย ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ (ที่เป็นวิชาการจริง) เอกชน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค
2.ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับกรณีมติดังกล่าว โดยขอให้แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกทั้งหมด หรือยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง
3.พิจารณาใช้วัคซีน mRNA ที่ได้รับบริจาคมานั้น แก่บุคลากรด่านหน้า ทั้งนี้ตามข้อมูลวิชาการปัจจุบัน ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ฉีดกระตุ้นหลังวัคซีน S ที่ใช้อยู่ ดังนั้นตามหลักการที่อิงหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว ควรพิจารณาให้วัคซีนดังกล่าวเหมือนเป็นการฉีดใหม่ คือ ฉีด 2 เข็มตามข้อบ่งชี้ในการใช้วัคซีนตามที่ขึ้นทะเบียน
4.ปรับเปลี่ยนนโยบายวัคซีนของประเทศ โดยเร่งจัดหาวัคซีนหลักที่มีประสิทธิภาพสูงคือ Pfizer/Biontech, Moderna, Novavax, J&J และจำเป็นต้องจัดการโดยศบค. ไม่ผ่านกลไกเดิมที่พบว่าเกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ดังที่ทราบกันมา
“นโยบายและมาตรการที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของคนทั้งชาตินั้น ต้องเกิดจากคนที่มีความรู้จริง ไม่หันซ้ายหันขวาตามลม และมีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม ไม่เช่นนั้น มติเชิงนโยบายต่างๆ ที่ออกมานั้น จะเป็นมติที่พาทุกคนลงเหว เราต้องไม่ยอมให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้อีกต่อไป”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, ธีระ วรธนารัตน์, วัคซีนต้านโควิด-19, ศบค., โควิด-19