นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” แสดงความเป็นห่วงต่อการเปิดให้ทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ในภาวะที่ประเทศยังมีการระบาดของไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะได้เห็นการติดเชื้อในชุมชนมากขึ้น พร้อมแนะทุกคนให้เตรียมรับมือการระบาดอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
” หลายประเทศที่เคยมีประสบการณ์สู้การระบาดแบบยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจสังคมอย่างมาก และมักหนีไม่พ้นต้องกลับมาตัดสินใจล็อคดาวน์นานกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับเรา การระบาดต่อเนื่องยาวนาน ดังที่เห็นจากระลอกสองตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เคยย้ำมาหลายครั้งคือ ผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของคนจำนวนมาก ยากต่อการแก้ไขเยียวยา
โดยแท้จริงแล้ว มาตรการคุมการระบาดที่เหมาะสม คือ การเข้มข้นล็อคดาวน์ในระยะสั้น 2-4 สัปดาห์ตั้งแต่แรก เพื่อตัดวงจรการระบาดให้ได้ แล้วผ่อนคลายให้สามารถทำมาหากิน ประกอบอาชีพได้ ดังที่เห็นในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอื่นๆ
มาถึงสถานการณ์จุดนี้ หากไม่ได้ตัดวงจรการระบาด และมีการให้เปิดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความรู้ทางวิชาการ เราคงมีโอกาสสูงที่จะเห็นการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในชุมชน ครัวเรือน ที่ทำงาน สถานประกอบกิจการระดับต่างๆ รวมถึงร้านอาหาร โรงอาหาร ศูนย์อาหาร และจากกิจกรรมท่องเที่ยวเดินทางตามที่ต่างๆ หากไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
“ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร คงจะเป็นการดี หากเราทุกคนเตรียมตัวรับมือไว้ด้วยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว ล้างมือบ่อยๆ ตะลอนน้อยๆ เจอคนน้อยๆ ใช้เวลาสั้นๆ อยู่ห่างมากๆ เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหาร โรงอาหาร ศูนย์อาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ให้แยกจากคนในบ้าน แล้วรีบไปตรวจรักษา”
นพ.ธีระ ระบุ
ทั้งนี้ ยอดติดเชื้อรายวันของไทยเมื่อวานนี้ 3,000 คน เป็นอันดับที่ 18 ของโลก ใน 20 อันดับแรกที่มีจำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงสุดตอนนี้ ประกอบด้วย
- 6 ประเทศจากเอเชีย
- 5 ประเทศจากยุโรป
- 4 ประเทศจากอเมริกาใต้
- 2 ประเทศจากแอฟริกา
- 2 ประเทศจากตะวันออกกลาง
- 1 ประเทศจากอเมริกาเหนือ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 64)
Tags: คลายล็อกดาวน์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธีระ วรธนารัตน์, โควิด-19