สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครนายก ระบุว่า จ.นครนายก ได้ออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีเหตุอัคคีภัย (ไฟป่า) ในพื้นที่ อ.เมือง ดังนี้ 1.หมู่ 13 ต.พรหมณี อ.เมือง จ.นครนายก , 2.หมู่ 10, 11, 12 และหมู่ 13 ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก เพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน
หลังจากเกิดพายุลมแรงและฟ้าผ่า ทำให้เกิดไฟลุกไหม้บนเขาชะพลู อ.เมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 28 มี.ค.66 ต่อมาไฟได้ปะทุและรุนแรงขึ้นในวันที่ 29 มี.ค.66 ลุกไหม้ไปทางเขาแหลม ใกล้เขตพื้นที่ ต.พรหมณี และ ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก และลุกไหม้เข้าเขานางดำในวันที่ 30 มี.ค.66
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นห่วงว่าไฟป่านครนายก ลามเข้าพื้นที่ “เขาใหญ่มรดกโลก” จึงได้สั่งการด่วนให้จัดส่งเจ้าหน้าที่และสรรพกำลังของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ช่วยดับไฟป่าที่และให้ประสานงานกับทางจังหวัดนครนายก และหน่วยงานในพื้นที่ในการช่วยกันดับไฟอย่างเร่งด่วน
โดยได้มีการสั่งให้ใช้เฮลิคอปเตอร์ในการทิ้งน้ำสกัดไฟ จะลดอุณหภูมิความร้อน และทำให้เข้าดับไฟได้บ้าง โดยส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทำแนวเผาโต้ บริเวณเขาตะแบก เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้าเขาใหญ่ห่าง 2 กิโลเมตร ซึ่งบนภูเขาเป็นพื้นที่ป่าไผ่ ทำให้ไฟรุนแรงมาก การควบคุมทำได้ยาก เพราะเป็นพื้นที่ชัน
ส่วนเรื่องสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บนภูเขานั้น คาดการณ์ว่า มีอยู่น้อยมาก เนื่องจากเป็นภูเขาลาดชัน ไม่มีช้างหรือสัตว์ใหญ่อาศัยอยู่ และสัตว์อื่นก็สามารถหนีไฟป่าได้ ที่น่าเป็นห่วงที่สุด จะเป็นพวกเต่าเหลืองที่หนีไฟไม่ทัน
อนึ่งวานนี้ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก รายงานสถานการณ์ของจังหวัดนครนายก เขาแหลมส่วนหน้าไหม้ทั้งเขา มีพื้นที่รวม 700 ไร่ โดยเป็นในส่วนหน้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไหม้ประมาณ 500 ไร่ และในส่วนตอนหลังเขาพระ ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ไหม้บริเวณสันเขา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 66)