นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยธรรมชาติ และช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพ เป้าหมายเกษตรกร 1.88 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 19.16 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณ 9,783.61 ล้านบาท
โดยประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันราคา 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันราคา 23 บาท/กิโลกรัม กำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) โดย ธ.ก.ส. ได้เริ่มโอนเงินประกันรายได้ดังกล่าว สำหรับงวดเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 ไปแล้วกว่า 739 ล้านบาท แก่เกษตรกรจำนวน 381,480 ราย
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางต้องขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลพื้นที่การปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยเป็นสวนยางพาราอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน
ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย จะทำการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ พร้อมทั้งประมวลผลส่งมายัง ธ.ก.ส. เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน = (ราคายางที่ประกันรายได้-ราคาอ้างอิงการขาย) X ปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ หากเจ้าของสวนกรีดเองจะได้รับส่วนต่างประกันรายได้ทั้งจำนวน กรณีจ้างกรีดยาง เจ้าของสวนยางจะได้ 60% และคนกรีดจะได้ 40% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีการประกาศราคากลางอ้างอิงทุกเดือน และจะมีการจ่ายเงินเดือนละครั้ง ตั้งแต่บัดนี้ถึงเดือนกันยายน 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 64)
Tags: กษาปณ์ เงินรวง, ธ.ก.ส., ประกันรายได้, ยางพารา