ธุรกิจแพลตฟอร์ม-ซอฟต์แวร์ ทางรอดช่วย SME พ้นวิกฤต

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วิเคราะห์ธุรกิจ พบว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ เป็นเครื่องมือและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ SME ไทย ผ่านพ้นวิกฤตธุรกิจไปได้ เนื่องจากช่วยขยายตลาดให้ผู้ประกอบการ SME อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแต้มต่อทางการค้าสู้ธุรกิจรายใหญ่ รวมทั้ง เป็นช่องทางเชื่อมต่อผู้ซื้อ – ผู้ขาย บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค หาพันธมิตรทางธุรกิจ สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสังคมออนไลน์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 64 ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์มีจำนวนการจัดตั้ง 1,551 ราย และมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,952.80 ล้านบาท, ปี 65 จัดตั้ง 1,162 ราย ลดลง 389 ราย หรือ 25.08% ทุน 2,857.57 ล้านบาท ลดลง 95.23 ล้านบาท หรือ 3.23%, ปี 66 จัดตั้ง 1,111 ราย ลดลง 51 ราย หรือ 4.39% ทุน 2,480.82 ล้านบาท ลดลง 376.75 ล้านบาท หรือ 13.19% และช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 จัดตั้ง 913 ราย ทุน 1,693.81 ล้านบาท

หากมองภาพรวมผลประกอบการในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ย้อนหลัง 3 ปี พบว่าสามารถทำรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 64 รายได้รวม 74,821.35 ล้านบาท, ปี 65 รายได้รวม 94,778.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,957.04 ล้านบาท หรือ 26.68% และปี 66 รายได้รวม 132,650.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,872.39 ล้านบาท หรือ 39.96% โดยปี 66 กลุ่มแพลตฟอร์มสามารถทำรายได้สูงกว่ากลุ่มซอฟต์แวร์ 24,075.16 ล้านบาท หรือ 44.35% โดยรายได้กลุ่มแพลตฟอร์ม 78,362.97 ล้านบาท รายได้กลุ่มซอฟต์แวร์ 54,287.81 ล้านบาท

ขณะที่กำไร/ขาดทุนสุทธิภาพรวมธุรกิจ 3 ปีย้อนหลัง ธุรกิจสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 66 มีกำไรสุทธิ 1,496.24 ล้านบาท เมื่อพิจารณเป็นรายธุรกิจ พบว่า กลุ่มแพลตฟอร์มมีแนวโน้มขาดทุนลดลงและสามารถทำกำไรได้ในปี 66 จำนวน 774.51 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มซอฟต์แวร์สามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง โดยในปี 66 กำไร 721.73 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์มีแนวโน้มมาแรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการดำรงชีวิตที่นิยมใช้จ่ายเลือกซื้อ ค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ SME มีการปรับตัวมาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ และนำเทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์มาช่วยในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการลงทุนของนักธุรกิจไทยมีมูลค่า 362,266.43 ล้านบาท คิดเป็น 92.73% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 35,839.00 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 326,427.43 ล้านบาท) ส่วนการลงทุนของชาวต่างชาติมีมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท) โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากสุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท และ มาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท

ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับ สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) และ บมจ.บิซิเนส ออนไลน์ (BOL) เปิดแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวบรวมเครื่องมือหลาย ๆ ด้านในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจไว้ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ยุคดิจิทัล เบื้องต้นมีผู้ให้บริการ 7 ราย ภายใต้ 4 หมวดหมู่ นำเสนอสิทธิพิเศษแก่ผู้ใช้บริการ ด้าน Sales and Marketing ด้าน Design and Development ด้าน Human Resource และด้าน Analytics and Reporting ภายใต้ชื่อ DBD SMEs360 โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าใช้งานได้ทันทีตั้งแต่เริ่มประกอบธุรกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 67)

Tags: , , ,