ธุรกิจบริการอาหารในปี 2568 ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนอาจโตอย่างชะลอตัว แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับเข้ามาสู่ระดับก่อน COVID-19 และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ แต่ยังต้องระวังปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น การปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันยังมีแนวโน้มรุนแรง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ธุรกิจบริการอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2568 จะเติบโตราว 7% แม้ว่าการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอตัว แต่คาดว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ที่จะดำเนินการต่อเนื่องในปีหน้า รวมถึงแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำ หากมีการปรับขึ้น จะช่วยหนุนให้กำลังซื้อของผู้บริโภคดีขึ้น ประกอบกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะช่วยหนุนยอดขายของธุรกิจบริการอาหาร
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรง จะส่งผลให้ต้นทุนปรับสูงขึ้นตาม เนื่องจากธุรกิจบริการอาหาร เป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจบริการอาหาร ยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวทั้งในด้านคุณภาพ และการให้บริการ รวมถึงการสร้างความแตกต่างและการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อรักษายอดขายและความสามารถในการทำกำไร
การเติบโตของธุรกิจอาหาร ปี 68 ในแต่ละประเภท
- ธุรกิจบริการอาหารแบบ Full-service คาดว่าจะเติบโต 7.8% ในปี 2568 โดยรับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยว รวมถึงกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยร้านอาหาร Chain มีโอกาสปรับตัวได้มากกว่าในการควบคุมต้นทุนเมื่อต้นทุนด้านแรงงานสูงขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดการจ้างพนักงาน เนื่องจากมีเงินทุนและสภาพคล่องที่มากกว่า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจบริการอาหารประเภทต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศ และจากต่างประเทศ สะท้อนได้จาก SSSG ในปี 2024 ของผู้ประกอบการบางรายในกลุ่ม Chain ที่หดตัว ซึ่งผู้ประกอบการพยายามกระตุ้นยอดขายโดยการจัดโปรโมชั่น ผู้ประกอบการจึงอาจต้องปรับกลยุทธ์หันมาสร้างเอกลักษณ์ พัฒนาคุณภาพ รวมไปถึงการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงจุด เพื่อสร้าง Brand loyalty
- ธุรกิจร้านอาหาร Limited-service คาดว่าจะเติบโต 4.4% ในปี 2568 นอกจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มร้านอาหารประเภทนี้ มีจำนวนสาขาที่เข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะการเติบโตของพื้นที่ Commercial estate เช่น พื้นที่ค้าปลีก พื้นที่สำนักงาน ตามพื้นที่เมืองต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขยายสาขาไปยังพื้นที่เหล่านี้ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และยังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าโดยการให้บริการที่รวดเร็วในเวลาเร่งรีบ
ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายสาขาจะเป็นไปอย่างชะลอตัว และมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่การเลือกขยายสาขาในพื้นที่เมืองใหญ่ มีศักยภาพ และประชากรหนาแน่น จะมีโอกาสช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้า
- ร้านอาหารแบบคาเฟ่/บาร์ คาดว่าจะเติบโต 7.2% ในปี 2568 โดยได้รับแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เช่น ความต้องการสถานที่สำหรับพบปะสังสรรค์ และทำงานนอกสถานที่ รวมถึงความนิยมในการค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในร้านคาเฟ่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยอดขายได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างความแตกต่าง สร้างเอกลักษณ์ในเมนูและการออกแบบร้าน เช่น ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น นำเสนอเมนูสุขภาพเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมถึงการขยายช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย
SCB EIC ระบุว่า ประเด็นด้าน ESG เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจบริการอาหารเริ่มให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย เพื่อบรรลุความยั่งยืนในธุรกิจบริการอาหาร เช่น
ด้านสิ่งแวดล้อม ร้านอาหารสามารถลดผลกระทบโดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและพลังงานทดแทน รวมถึงลดขยะอาหาร
ด้านสังคม ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการให้ค่าแรง และสวัสดิการที่ยุติธรรม สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และเลือกซื้อวัตถุดิบที่มีจริยธรรม
ด้านธรรมาภิบาล ร้านอาหารอาจนำหลักการบริหารที่ยั่งยืนมาใช้ พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรม และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 67)
Tags: SCB EIC, ธุรกิจอาหาร, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์