ธุรกิจรับซื้อหนี้ปี 68 ยังกระจุกตัวเฉพาะรายใหญ่ แม้ผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่ม เหตุติดล็อคข้อจำกัดเงินทุน

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ระบุว่า แม้จำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจบริหารสินทรัพย์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การแข่งขันในตลาดคาดว่าจะไม่รุนแรง เนื่องจากข้อจำกัดและความท้าทายต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ

ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาพลักษณ์ในผลประกอบการของผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงจากการซื้อสินทรัพย์ในราคาที่ปรับลดลงจากสิทธิเรียกร้องในอัตราที่ค่อนข้างมาก แต่สามารถนำมาบริหารเพื่อสร้างรายได้และกำไรในอัตราที่ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ดังกล่าวมาพร้อมกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใน ธุรกิจที่เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจและเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายที่ซับซ้อนและต้องใช้ระยะเวลา ส่งผลให้มีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้สูง อีกทั้งยังต้องใช้ระยะเวลาในการจัดเก็บหนี้ที่ยาวนาน ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีเงินทุนที่แข็งแกร่งและเพียงพอ หากเป็นเงินทุนจากการกู้ยืม เมื่อขาดสภาพคล่องหรือไม่สามารถกู้ยืมหรือระดมทุนใหม่ได้ ธุรกิจอาจประสบปัญหาและต้องหยุดดำเนินกิจการไปในท้ายที่สุด

ผู้ประกอบการรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน แม้จำนวนผู้ประกอบการรายใหม่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่การเติบโตในภาพรวมของอุตสาหกรรมยังคงไม่สูงเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนมากเข้ามาซื้อทรัพย์ด้วยทุนที่จำกัด เมื่อเงินทุนที่มีใช้หมดไป ก็ต้องหยุดหรือชะลอการซื้อและใช้เวลาในการเรียกเก็บเงินจากหนี้ที่ซื้อมาก่อนถึงจะมีเงินทุนมาซื้อหนี้ใหม่

ปัจจุบัน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีการกระจุกตัวค่อนข้างมาก โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 พบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 4 รายแรก ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 75% เมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์รวม แม้จำนวนผู้ประกอบการจะเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้หรือเงินลงทุนในการซื้อลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) เข้ามาบริหารมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงหรือลดลงในปี 2567 แตกต่างจากสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ที่ยังมีการเติบโต สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่เข้าสู่ตลาดเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่ยังมีเงินทุนที่จากัดในการซื้อ NPL ขณะที่ภาพรวมของการขาย NPA ทั้งระบบมีความยากลำบากมากขึ้น

โครงสร้างตลาดธุรกิจบริหารสินทรัพย์น่าจะยังคงเหมือนเดิมในระยะปานกลาง โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุน ประสบการณ์ และใช้ระยะเวลาการคืนทุนที่นาน ทำให้โอกาสที่จะมีผู้ประกอบการรายใหญ่รายใหม่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในตลาดนี้ค่อนข้างน้อย

การลงทุนที่ชะลอตัว: แหล่งเงินทุนที่จำกัดและยอดจัดเก็บเงินสดยังอ่อนแอ

สภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแอได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่งผลให้ยอดการจัดเก็บเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งระบบยังไม่ฟื้นตัวหรือลดลงในบางบริษัท เมื่อยอดการจัดเก็บเงินสดลดลง ความสามารถในการซื้อหนี้ใหม่ของบริษัทก็ลดลงตามไปด้วย หากบริษัทต้องการรักษาปริมาณการซื้อหนี้ในระดับเดิม ก็จำเป็นต้องพึ่งพาการก่อหนี้เพิ่มเติม จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ธุรกิจมีภาระต้นทุนการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เดิมที่สูงขึ้นจากอดีต การซื้อหนี้ใหม่ด้วยเงินทุนจากการก่อหนี้สร้างภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอีก เมื่อผนวกกับการคืนทุนที่ใช้ระยะเวลา ทำให้การก่อหนี้เพื่อจัดซื้อหนี้ใหม่ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบในสถานการณ์ปัจจุบัน

แหล่งเงินทุนหลักของบริษัทบริหารสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มาจากการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา การระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้เผชิญความท้าทายจากปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องใช้เงินสดจัดเก็บที่ได้รับมาเพื่อชาระคืนหนี้และรักษาสภาพคล่องมากกว่าการซื้อหนี้ใหม่

กิจการร่วมทุนบริษัทบริหารสินทรัพย์

การอนุญาตและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุน (Joint Venture – JV) ระหว่างธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นมาตรการสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำมาใช้หลังเหตุการณ์โควิด-19 เพื่อลดปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ยื่นขอจัดตั้งในช่วงปี 2565-2567 และกำหนดระยะเวลาดำเนินกิจการร่วมทุนไว้ที่ 15 ปี

โดยหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาขอยื่นจัดตั้งมาแล้ว มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุนทั้งสิ้น 3 แห่งเป็นการจัดตั้งระหว่าง

1. บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด และ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด

2. บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด

3. บริหารสินทรัพย์ อารีย์ จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารออมสิน

ทริสเรทติ้ง เห็นว่าการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ทั้งกับสถาบันการเงินที่จะช่วยลดปริมาณหนี้เสียในสถาบันการเงินเองโดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของบริษัทบริหารสินทรัพย์ในการจัดการกับหนี้เสีย ในขณะที่แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินจะช่วยลดข้อจำกัดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ในด้านเงินทุนที่จะใช้ซื้อหนี้มาบริหาร

อย่างไรก็ตาม ปริมาณ การจัดตั้งกิจการร่วมทุนมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากมีเงื่อนไขและความท้าทายในการเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกันในหลายประเด็น เช่น ราคาซื้อขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ ค่าธรรมเนียมการจัดการ แหล่งเงินทุน แผนการทำธุรกิจร่วมกันในระยะยาว และการเลิกกิจการร่วมทุนหลัง 15 ปี ด้วยจำนวนกิจการที่จัดตั้งและข้อจำกัดต่างๆ ทริสเรทติ้งไม่คาดหวังว่าบริษัทร่วมทุนเหล่านี้จะทำให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสาคัญ ประกอบกับอุปทานสินเชื่อด้อยคุณภาพในระบบยังคงมีจำนวนมากเกินกว่าที่บริษัทบริหารสินทรัพย์จะสามารถรองรับได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ในปี 2567 ยอดจัดเก็บเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.30 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 3% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยในปี 2567 ยอดจัดเก็บเงินสดที่ยังขยายตัวได้มาจากธุรกิจบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ แต่ยอดจัดเก็บเงินสดจากการขายทรัพย์สินรอการขายปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาและสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ที่สนใจมาซื้อทรัพย์ของบริษัท

ขณะที่การลงทุนซื้อหนี้หรือทรัพย์สินใหม่เข้ามาบริหารมีการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงมากถึง 57% เมื่อเทียบกับการซื้อในปีที่ผ่านมา การปรับลดนี้เกิดจากหลายปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งเงินทุนของบริษัทที่ใช้การออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลัก การชะลอตัวของยอดการจัดเก็บเงินสดทำให้กระแสเงินสดที่จะไปซื้อหนี้ใหม่ลดลง รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้แต่ละบริษัทต้องปรับแผนและชะลอการลงทุนออกไป

ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมของทุกบริษัทอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท ลดลง 11.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กำไรที่ลดลงมาจากยอดจัดเก็บที่ชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.39% ในปี 2567 จาก 3.24% ในปี 2566

สำหรับในปี 2568 ทริสเรทติ้ง คาดว่ายอดจัดเก็บเงินสดจะใกล้เคียงกับปี 2567 โดยปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเปราะบางทางเครดิตยังคงเผชิญความยากลำบากในการชำระหนี้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารจะยังคงใช้นโยบายการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเห็นได้จากปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 18.3% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2566 เป็น 3.9% ในปี 2567 แนวโน้มดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ และยังคงสร้างแรงกดดันต่อการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายและยอดจัดเก็บเงินสดในปี 2568

ดังนั้น ทริสเรทติ้ง คาดว่าการซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารจะยังคงชะลอตัวในปี 2568 เนื่องจากสภาวะแหล่งเงินทุนที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้บริษัทต้องเก็บเงินสดที่เก็บได้สำรองไว้สาหรับชำระหนี้ที่ถึงกำหนด โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถกู้ยืมใหม่ได้ นอกจากนี้ ยอดจัดเก็บเงินสดที่คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวดี จะยังคงกดดันงบลงทุนของแต่ละบริษัทในปี 2568 สำหรับในด้านของราคาซื้อหนี้นั้น คาดว่ามีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงเนื่องจากอุปทานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขณะที่อุปสงค์ชะลอตัว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 68)

Tags: , ,