ธปท.เล็งออกมาตรการรวมหนี้ข้ามแบงก์คาดเริ่ม ต.ค.หวังลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงกลางเดือน ต.ค.64 ธปท. เตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ระหว่างสถาบันการเงิน สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน กับสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อบัตรเครดิต รวมกับสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น เพื่อลดภาระของลูกหนี้ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยเชื่อว่าการเพิ่มเกณฑ์ให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินได้นั้น จะช่วยสร้างการแข่งขัน เพิ่มปริมาณธุรกิจ และเพิ่มแรงจูงใจในการดำเนินมาตรการให้กับสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งมาตรการที่ออกมาเพิ่มเติมนี้ จะมีการกำหนดไม่ให้สถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมชำระเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) รวมถึงเกณฑ์การจัดชั้นของสถาบันการเงิน และมาตรการจูงใจอื่น ๆ เพิ่มเติม

เบื้องต้นคาดว่าหากลูกหนี้สามารถรวมหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกันกับสินเชื่อที่มีหลักประกันได้ จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากระดับสูงให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 10% จากปัจจุบันที่เพดานหนี้บัตรเครดิต อยู่ที่ 16-18% สินเชื่อบุคคล อยู่ที่ 25% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อยู่ที่ 24% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ อยู่ที่ 33%

“ปัจจุบันอาจจะมีนอนแบงก์ ที่ไม่ได้มีหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งเมื่อมีมาตรการนี้ อาจทำให้ลูกหนี้โอนมารวมกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งนอนแบงก์เองก็ต้องยอมปล่อยลูกหนี้ออกมา จะบังคับไม่ให้ปิดหนี้เดิมไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า เมื่อมีเงินไปปิดสถาบันการเงินก็ต้องรับ โดยในครั้งนี้ ธปท.จะเพิ่มหลักเกณฑ์ในเรื่องห้ามคิดค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนดด้วย”

น.ส.สุวรรณี กล่าว

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง จะต้องเน้นการเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุด และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบหรือผลข้างเคียงต่อระบบการเงิน เพื่อให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้ตามปกติ และหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ ขณะที่ไม่ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงและเปราะบางถูกผลักไปอยู่นอกระบบ

“ดังนั้น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมการให้แรงจูงใจเพิ่มเติม มาตรการเพิ่มเงินใหม่ รวมถึงมาตรการรวมหนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และระบบสถาบันการเงินยังสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง”

น.ส.สุวรรณี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)

Tags: , ,