นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) ธปท. ได้เชิญกรรมการผู้จัดการของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และผู้แทนสมาคมธนาคารไทยมาหารือ เพื่อผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากได้เชิญกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนอนแบงก์ (non-bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) รายใหญ่ หารือในสัปดาห์ก่อน
การหารือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ SMEs ภายหลังจากที่หลักเกณฑ์ Responsible Lending (การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม) ทยอยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างทันท่วงที รวมถึงกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติร่วมกัน
โดย ธปท. ได้เน้นย้ำให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Responsible Lending ของตนเอง รวมถึงบริษัทลูกทุกบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอย่างจริงจัง รวมทั้งกำชับให้เร่งติดต่อสื่อสารกับลูกหนี้ เพื่อให้ทราบถึงทางเลือก ประโยชน์ เงื่อนไขอย่างชัดเจนและครบถ้วน
“ธปท. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สามารถเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนได้ต่อไป” นายรณดล กล่าว
นอกจากนี้ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ ยังตอกย้ำจุดยืนร่วมกัน ในการเร่งสกัดกั้นและตัดวงจรของภัยทุจริตทางการเงินอย่างเข้มงวด ทั้งการยกระดับมาตรฐานการจัดการบัญชีม้า และการมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติม เพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น โดย ธปท. มุ่งหวังว่ามาตรการครั้งนี้ จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ และดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)
Tags: SME, ธปท., ปรับโครงสร้างหนี้, รณดล นุ่มนนท์