ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจมุมมองภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 จากความเห็นนักวิเคราะห์ (Analyst Survey) พบว่า นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 64 ลงเหลือโต 0.6% จากเดิมคาดโต 1.3%
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/64 มีแนวโน้มฟื้นตัว สะท้อนจากการคาดการณ์ว่าทุกเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจะขยายตัวเล็กน้อยจากแรงสนับสนุนทั้งนโยบายด้านการคลังและการเงิน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว
โดยภาคการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิต จากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ค่าระวางเรือ และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ความไม่แน่นนอนทางการเมือง กดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน โดยมองว่าเศรษฐกิจจะกลับเป็นปกติภายในปี 65 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 42.3% จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 19% สำหรับมาตรการที่มีประโยชน์มากที่สุดในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คือ การกระตุ้นกำลังซื้อ และการปรับโครงสร้างหนี้
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เห็นว่าประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ช้าว่าการประเมินในรอบเดือน ก.ค.64 ที่เป็นช่วงก่อนการระบาดรุนแรง ส่วนหนึ่งเพราะกังวลว่าการระบาดอาจจะกลับมารุนแรงขึ้นอีก หลังจากเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มเกิน 70% ของประชากร จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการกลับมาใช้ชีวิตปกติของประชาชน
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมีมุมมองต่อตัวเลขเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ที่ 1.0% ส่วนปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.50% คงที่เช่นเดียวกับ ณ สิ้นปี 65 และอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาท ณ สิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสิ้นปี 65 อยู่ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ส่งออก, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย