ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/64 พบว่านักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.3% จากเดิมคาดโต 2.5% และปี 65 เหลือ 3% จากเดิมคาดโต 4% พร้อมประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปีนี้จะทรงตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย. 64 ที่ยืดเยื้อและรุนแรง ขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ธุรกิจในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจในภาคที่ไม่ใช่การผลิต จากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ นโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลาย มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจและประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป
นอกจากนั้น ในการสำรวจครั้งนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติช้ากว่าการสำรวจในครั้งก่อน โดยนักวิเคราะห์ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติหลังปี 65 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่วนระยะเวลาที่ประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีทั้งกลุ่มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ และปีหน้า ภายใต้สถานการณ์ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 500 ราย
สำหรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้า นักวิเคราะห์คาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 1.2% ส่วนปี 65 เฉลี่ยที่ระดับ 1.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 0.50% ส่วนปี 65 อยู่ที่ 0.50% เช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย