ธปท.ออกหนังสือเวียนกำชับแนวทางบริหารจัดการด้านสินเชื่ออย่างเป็นธรรม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือเวียนเรื่องแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ไปยังสถาบันการเงินทุกแห่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ไม่ใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ทุกแห่ง และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและธุรกิจลีสซิ่งทุกแห่ง

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.เปิดเผยว่า ธปท. ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม และสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้ง ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับทราบสิทธิและบทบาทหน้าที่ของตนในการใช้บริการด้านสินเชื่ออย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ในครั้งนี้ ธปท. จึงได้จัดทำหนังสือเวียน เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ซึ่งได้รวบรวมหลักเกณฑ์ของ ธปท. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านสินเชื่อที่ ธปท. ใช้กำกับดูแลผู้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยเน้นหลักการสำคัญและยกตัวอย่างแนวทางการให้สินเชื่อที่เป็นธรรม เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ให้บริการนำไปปรับใช้ในการดูแลลูกหนี้ ผู้ค้ำประกัน และควบคุมดูแลบุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำหน้าที่แทนผู้ให้บริการ เช่น การติดตามทวงถามหนี้ หรือ การดำเนินคดี ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลและได้รับการแจ้งสิทธิและบทบาทหน้าที่ของตนในแต่ละขั้นตอนจากผู้ให้บริการ

โดย ธปท. ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านสินเชื่อ ทำให้หนังสือเวียนฉบับนี้ครอบคลุมกระบวนการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (end-to-end process) โดยมี 6 กระบวนการ ได้แก่

(1) การพัฒนาและการเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ : ให้มีเงื่อนไขราคาสอดคล้องกับความเสี่ยง รูปแบบการให้สินเชื่อมีความเหมาะสม และชี้แจงรายละเอียดครบถ้วน เช่น สินเชื่อที่หักชำระหนี้จากเงินเดือน หรือใช้เงินฝากของตนเองค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยง

(2) การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ : ให้มีการประเมินราคาหลักประกันที่เหมาะสม แจ้งสิทธิของลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน โดยเฉพาะผู้ค้ำประกันไม่จำเป็นต้องลงนามซึ่งจะทำให้ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมหากไม่ได้รับเงินโดยตรง และไม่กำหนดเงื่อนไขการทำประกันที่สร้างภาระแก่ลูกหนี้เกินสมควร

(3) การติดตามทวงถามหนี้และการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ : ควบคุมดูแลพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้อย่างเหมาะสม และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามอัตราที่กำหนด พร้อมปรับปรุงแนวปฏิบัติธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ ให้เป็นปัจจุบัน

(4) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการจ่ายชำระหนี้คืน โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน : ให้ทางเลือกความช่วยเหลือลูกหนี้ และสนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยหนี้ทั้งกระบวนการ รวมทั้งอธิบายความแตกต่างของผลทางคดีจากการไกล่เกลี่ยหนี้ตามกฎหมายให้ครบถ้วน

(5) กระบวนการดำเนินคดี : กำกับดูแลการดำเนินคดีให้เป็นธรรม กรณีที่ลูกหนี้สอบถาม ให้ผู้ให้บริการแจ้งข้อมูลการดำเนินคดีให้ลูกหนี้ทราบ เช่น ภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี และการไปใช้สิทธิในชั้นศาลเพื่อแถลงข้อเท็จจริง เป็นต้น

(6) การขายและโอนหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น : แจ้งข้อมูลการโอนขายหนี้ให้ครบถ้วน และผู้ให้บริการที่รับซื้อหนี้ควรพิจารณาถึงรูปแบบการผ่อนชำระของผู้ให้บริการเดิม โดยให้ลูกหนี้ได้รับสิทธิเทียบเท่าหรือดีกว่า หรือพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 64)

Tags: , , ,