ธปท. มองนโยบายการเงินยังเหมาะสมบริบทศก.ไทย รอการเมืองชัดเจน

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2566 ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.6% และปี 2567 ที่ 3.8% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแรงส่งที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดยในภาคการท่องเที่ยวจะเห็นได้ว่ามีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปีนี้ มากกว่าที่คาดไว้ในเกือบทุกสัญชาติ โดย ธปท.คาดว่าทั้งปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 29 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 35.5 ล้านคนในปี 67 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในทุกกลุ่มอาชีพปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในภาคการส่งออกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -0.1% ซึ่งจะเห็นการขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 3.6% ในปี 67

นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่เป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวมีมากกว่าที่คาดไว้ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่มากกว่าที่คาด ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ

เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้กลับสู่กรอบเป้าหมาย

ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อว่า ในปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% ซึ่งเป็นการลดลงจากแรงกดดันด้านอุปทานที่เริ่มลดลงจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันในประเทศ ขณะที่ราคาอาหารสด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต และลดลงช้าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะอยู่ที่ 2.0%

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรณีฐาน คือ ต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ส่งผ่าน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวได้มากกว่าคาด และราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ตามการเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อแรงกดดันทั้งด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ เช่น นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นายสุรัช กล่าวด้วยว่า หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ 10% อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 0.50% จากระดับที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ได้รวมปัจจัยเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์เอลนิโญไว้แล้ว

นโยบายการเงินเหมาะสมเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าว่า สิ่งที่ กนง. ใช้ในการพิจารณา คือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ต่อเมื่อจะมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะการเงิน

“ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจุบัน และอนาคต สิ่งที่ กนง.ดูคือแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ส่วนด้านต่างประเทศ ที่จะเข้ามาพิจารณา ก็ต่อเมื่อมีนัยต่อเศรษฐกิจไทย ไมว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะการเงิน ดังนั้น ที่ผ่านมาวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย และสหรัฐมีความแตกต่างกัน ของสหรัฐฯ จะฟื้นตัวเร็วและแรงกว่า ส่วนของไทยค่อยๆ ตามมา ดังนั้นในปีหน้า คิดว่ายังเป็นทิศทางที่ยังแตกต่างกันอยู่ ของไทยคือค่อยฟื้นในปีหน้า แนวนโยบายที่ทำ ณ ปัจจุบัน ก็ยังคงมองภาพนั้นอยู่” นายปิติ กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งที่ กนง. จะพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป คือ การพิจารณาให้เกิดความสมดุลทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน ดังนั้นแนวนโยบายที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ กนง.จึงมองว่ายังเป็นสิ่งที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเห็นว่ายังมีเวลาอีก 1 เดือนครึ่งก่อนที่จะมีการประชุม กนง.รอบถัดไปในเดือนส.ค. ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะมีข้อมูลอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้อีก

ส่วนความกังวลว่าในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ นโยบายการคลังอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่นั้น นายปิติ กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอจะใส่ไปใน baseline ว่านโยบายด้านการคลังจะเป็นอย่างไร มีเพียงกรอบงบประมาณที่อนุมัติไว้แล้วในปี 66 และ 67 ที่ใช้เป็นฐานไปก่อน และค่อนข้างชัดเจนว่างบประมาณปี 67 อาจจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส และเห็นว่ายังมีเวลาพอที่จะรอดูความชัดเจนของรัฐบาลที่จะเข้ามาก่อน

“เรื่องนโยบายการคลัง ตอนนี้ เรายังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะใส่ไปใน baseline ว่าคลังจะเป็นอย่างไร แต่มีกรอบงบประมาณที่อนุมัติไว้แล้วในปี 66 และ 67 ใช้เป็นกรณีฐานไปก่อน และมีความเสี่ยงด้านสูงว่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น คงทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงขึ้น เป็นได้ว่าจะทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์สูงขึ้น และมีความชัดเจนว่างบปี 67 อาจจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส ตอนนี้ เรายังมีเวลาพอที่จะดูความชัดเจนของรัฐบาลที่จะมาก่อน” นายปิติ กล่าว

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุถึงประเด็นสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินว่า การดำเนินนโยบายการเงิน มีเป้าหมายหลักในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้อ กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะต้องเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ และช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , , , , , ,