นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและยืดเยื้อ ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงการเปิด “ทางด่วนแก้หนี้” ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็น “ช่องทางเสริม” ในลักษณะออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ หรือได้รับความช่วยเหลือ แต่เงื่อนไขไม่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ สามารถแจ้งปัญหาและขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ได้
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 กันยายน 2564) สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้เข้าถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนสูง ธปท. จึงได้ปรับปรุงโครงการทางด่วนแก้หนี้ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจได้ทั่วถึง และสอดคล้องกับลักษณะปัญหาที่หลากหลายได้ดีขึ้น ดังนี้
– ลูกหนี้ธุรกิจที่ (1) มีเจ้าหนี้หลายราย (2) มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น วงเงินรวมตั้งแต่ 250 ล้านบาทขึ้นไป และ (3) ประสบปัญหาในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ทีละราย (แก้หนี้แบบเดี่ยว) เช่น ใช้เวลานาน หรือไม่สามารถทำได้ครบทุกราย สามารถลงทะเบียนขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายพร้อมกันได้ในคราวเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566
– ลูกหนี้ธุรกิจอื่น ที่นอกเหนือจากข้อ 1 และมีปัญหาการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ สามารถลงทะเบียนแจ้งปัญหาผ่านทางด่วนแก้หนี้ รวมถึงสามารถแจ้งขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ และคำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม ผ่าน “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
สำหรับผลการดำเนินงานของ “ทางด่วนแก้หนี้” ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ในเครือข่ายของทางด่วนแก้หนี้ จำนวน 75 แห่ง ทั้งที่อยู่ภายใต้การกำกับและนอกการกำกับของ ธปท. โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการ มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 254,187 บัญชี หรือ 76% ของผู้ที่เข้าเงื่อนไข และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย (ข้อมูลถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 64)
Tags: ทางด่วนแก้หนี้, ธปท., ธัญญนิตย์ นิยมการ, แก้หนี้