นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ และรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.) จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน จากเดิมที่ต้องมีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยมีผลตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน 2564
สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีลูกหนี้เข้าโครงการจำนวน 22,011 ราย รวม 68,071 บัญชี ภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 5,163 ล้านบาท โดยเฉลี่ยลูกหนี้ 1 ราย มีเจ้าหนี้ 2 ราย เงินต้นเฉลี่ยคงเหลือ 238,198 บาท ส่วนผลของมาตรการช่วยเหลือ “สูตรจ่ายเท่าที่ไหว” พบว่า มีลูกหนี้ 84% สามารถชำระได้เกินกว่า 40% ของค่างวดตามสัญญา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา โครงการคลินิกแก้หนี้ได้ดำเนินการปรับเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการฯ และผู้สมัครรายใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การออกมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 “สูตรจ่ายเท่าที่ไหว” ในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งลูกหนี้ที่ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 40% ของค่างวดตามสัญญาจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% ต่อปี
รวมทั้งได้ปรับกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและอำนวยความสะดวกแก่ลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้สามารถสมัครและส่งเอกสารผ่านเว็บไซต์ และเมื่อได้รับอนุมัติจะเริ่มปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยส่งภาพหลักฐานการตอบรับเงื่อนไขและเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางที่กำหนด ควบคู่กับการส่งเอกสารตัวจริงทางไปรษณีย์ รวมทั้งลูกหนี้ในโครงการฯ สามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรได้ที่สำนักงานโครงการคลินิกแก้หนี้ นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้รายใหม่ที่เข้าโครงการฯ ยังปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหลือเพียงอัตราเดียวที่ 5% ต่อปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 64)
Tags: คลินิกแก้หนี้, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ธัญญนิตย์ นิยมการ