ธปท.จับตานโยบายประชานิยม ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อสูง หลังศก.ติดเครื่อง

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวแสดงความเห็นในงาน Monetary Policy Forum ต่อกรณีที่หลายพรรคการเมืองใช้นโยบายหาเสียงประชานิยม ซึ่งอาจทำให้มีข้อกังวลว่าจะยิ่งเพิ่มให้เงินเฟ้อสูงขึ้นหรือไม่ว่า จะต้องไปพิจารณารายละเอียดในแต่ละนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะหากมีหลักการเพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ก็จำเป็นต้องประสานกันต่อไป

ทั้งนี้ มองว่านโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งภาคการคลัง และภาคการเงิน แต่ในระยะข้างหน้า ประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวและยังมีแรงส่ง จึงเป็นเหตุผลให้ต้องถอนคันเร่งภาคการเงิน เช่นเดียวกับภาคการคลัง ที่ทยอยยกเลิกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาไปในช่วงที่ผ่านมาแล้ว

นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมรอบวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากมองว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตได้ดี ซึ่งจะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ผู้ประกอบการภาคการผลิตจะเริ่มทยอยส่งผ่านต้นทุนที่ยังค้างอยู่จากปีที่แล้ว ไปยังราคาสินค้าและบริการในปีนี้ ดังนั้น ถ้าสถานการณ์เอื้อให้ปรับขึ้นราคาสินค้า ก็จะทำให้เงินเฟ้อยังมีโอกาสอยู่ในระดับที่สูงต่อไปได้

พร้อมระบุว่า การที่ กนง.มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังมีความจำเป็น เนื่องจากมองเห็นพัฒนาการของเงินเฟ้อ และขณะนี้เงินเฟ้อยังไม่อยู่ในระดับที่ กนง.จะสบายใจได้

“ในบริบทที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น การจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างดี ผู้ประกอบการก็อาจจะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้า จึงเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางในโลก และของไทยจึงต้องถอนคันเร่ง (ขึ้นดอกเบี้ย) เพื่อให้เข้าสู่ Normalize เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง และไปทำให้การตั้งราคาส่งผ่านไปได้เยอะ แม้ปัจจบุนเงินเฟ้อจะเริ่มลดลง แต่ในอนาคต เงินเฟ้อก็ยังมีแนวโน้มจะสูงกว่าอดีต” นายปิติ กล่าว

พร้อมระบุว่า กนง. ไม่ได้มีการกำหนดว่าจุดสุงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับใด เพียงแต่มองภาพในปัจจุบัน และแนวโน้มอนาคต รวมทั้งพิจารณาข้อมูลที่เข้ามาใหม่ประกอบกันไป เพื่อดูว่าแนวโน้มที่เคยให้ไว้ยังสอดคล้องกันหรือไม่

“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปสูงสุดที่เท่าไร แต่เรายังต้องรักษาความเสี่ยงเงินเฟ้อต่อไปในอนาคต” นายปิติระบุ

นายปิติ ยังกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงว่า ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าอดีตนั้น จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีต จึงทำให้กนง.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดการติดลบของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลง ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรอยู่ในระดับใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของเศรษฐกิจเป็นหลัก

“ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ดอกเบี้ยจะติดลบก็ไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขยายตัวอัตรา 3-4% ก็ไม่ควรเห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ” นายปิติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 66)

Tags: , ,