ธนาคารใหญ่ทั่วโลกโละพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 6 หมื่นตำแหน่งในปี 2566

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า ในปี 2566 ธนาคารใหญ่ทั่วโลกเลิกจ้างพนักงานไปแล้วมากกว่า 60,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในปีที่มีการเลิกจ้างงานมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินโลก และเกิดขึ้นเพียงไม่นานนักหลังธนาคารทั่วโลกเร่งจ้างงานเพิ่ม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของลูกค้าหลังโลกฟื้นตัวจากการแพร่รระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ บรรดาวาณิชธนกิจต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เนื่องจากค่าธรรมเนียมลดลง ซึ่งเป็นผลจากการทำข้อตกลงและการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลดลง ส่งผลให้บรรดาวาณิชธนกิจในวอลล์สตรีทตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานเพื่อรักษาผลกำไรเอาไว้

รายงานระบุว่า การซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิสโดยคู่แข่งอย่างธนาคารยูบีเอส (UBS) ที่นำไปสู่การควบรวมกิจการ ก็ได้ส่งผลให้เกิดการปลดพนักงานอย่างน้อย 13,000 ตำแหน่ง โดยคาดว่าจะมีการประกาศเลิกจ้างครั้งใหญ่อีกรอบในปีหน้า

นายลี แทคเกอร์ เจ้าของซิลเวอร์ไมน์ พาร์ทเนอร์ส (Silvermine Partners) บริษัทผู้ให้บริการด้านการสรรหาบุคลากรทางการเงินในอังกฤษ กล่าวว่า “ธนาคารส่วนใหญ่ไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีการลงทุน ไม่มีการเติบโต และมีแนวโน้มว่าจะมีการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก” พร้อมกล่าวเสริมว่า แม้อุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่บรรดาผู้บริหารระดับสูงก็ยังคงได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษ

จากการคำนวณของไฟแนนเชียลไทม์ส พบว่า ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของโลก 20 แห่ง ได้ปลดพนักงานลงอย่างน้อย 61,905 ตำแหน่งในปี 2566 เมื่อเทียบกับการเลิกจ้างมากกว่า 140,000 ตำแหน่งในช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2550-2551

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 66)

Tags: , ,