ท่องเที่ยว-กำลังซื้อฟื้น หนุนเศรษฐกิจภูมิภาค พ.ย. แม้ลงทุนเอกชนยังวูบ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน พ.ย. 67 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ในหลายภูมิภาค อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัวในทุกภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค รายได้เกษตรกร การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่13.7% และ 4.0% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -31.1% และ -4.9% ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.6

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -26.2% และ -24.6% ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ 262.3% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 75.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 72.8 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 12.7% และ 12.3% ต่อปี ตามลำดับ

ภาคใต้

มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค รายได้เกษตรกร การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 11.7% 6.8% และ 17.4% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่-36.0% ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.0

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -19.0% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 3.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -31.3% ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ 24.7% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตไม้อัด ปาร์ติเกิลบอร์ด ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 79.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 81.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 5.2% และ 9.2% ต่อปี ตามลำดับ

ภาคเหนือ

มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค รายได้เกษตรกร และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 10.9% และ 4.4% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -23.2% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -0.1% ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 57.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.3

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -14.0% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 11.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -30.4% ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.4 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 4.6% และ 7.5% ต่อปี ตามลำดับ

กทม. และปริมณฑล

มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค รายได้เกษตรกร และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่7.6% และ 3.8% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -28.4% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 3.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -9.4% ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.5

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -31.1% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 6.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -21.7% ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 6.5% และ 11.5% ต่อปี ตามลำดับ

ภาคกลาง

มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค รายได้เกษตรกร และการท่องเที่ยว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่1.7% และ 5.0 %ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -30.7% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 3.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -11.5% ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.0

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -19.5% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 5.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -35.6% ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 10.9% และ 11.2% ต่อปี ตามลำดับ

ภาคตะวันออก

มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัวที่ -10.6% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 1.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -41.9% และ -7.0% ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.5

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -10.9% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -38.2% ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.2 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับเดียวกัน เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 24.5% และ 29.5% ต่อปี ตามลำดับ

ภาคตะวันตก

มีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 12.6% ต่อปี อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -10.7% -27.9% และ -11.7% ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.0

เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -15.5% ต่อปี แต่ขยายตัวที่ 9.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ -46.5% ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว

ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนหดตัวที่ -3.1% แต่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี

นอกจากนี้ ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย ประจำเดือน พ.ย. 67 ซึ่งสำรวจจากสำนักงานคลังจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกตามการขยายตัวของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ สอดคล้องกับกำลังซื้อสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชนซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาคเช่นกัน ตามการขยายตัวของภาคเกษตรและภาคบริการ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคกลาง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ใน 6 เดือนข้างหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค อาทิ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 67)

Tags: , , , , ,