แหล่งข่าวจากทำเนียบขาว 2 รายเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ทีมงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอให้นักการทูตอาวุโส 3 ราย ที่ดูแลงานบุคลากรและประสานงานภายในกระทรวงการต่างประเทศลาออกจากตำแหน่ง ส่อเค้าการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในวงการทูต
แหล่งข่าวระบุว่า ทีมเตรียมงานรัฐบาลใหม่ได้ขอให้เดเร็ก โฮแกน, มาร์เซีย เบอร์นิแคต และอไลนา เทปลิตซ์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยทั้ง 3 คนเป็นข้าราชการประจำที่เคยทำงานมาทั้งในรัฐบาลพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตด้วย
ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว เมื่อมีประธานาธิบดีคนใหม่ ข้าราชการการเมืองจะยื่นใบลาออก แต่ข้าราชการประจำมักทำงานต่อเนื่องจากรัฐบาลหนึ่งสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง
ทรัมป์ ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนวันที่ 20 ม.ค. เคยประกาศระหว่างหาเสียงว่าจะ “ล้างบางรัฐพันลึก” ด้วยการปลดข้าราชการที่ไม่จงรักภักดี
“หลายคนกังวลว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงยิ่งขึ้น” แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งกล่าว
โฆษกทีมเตรียมงานของทรัมป์ชี้แจงว่า “เป็นเรื่องปกติที่ช่วงเปลี่ยนผ่านจะมองหาบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวอเมริกันมาเป็นอันดับหนึ่ง เรามีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข และต้องอาศัยทีมงานที่มุ่งมั่นไปในทิศทางเดียวกัน”
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ยังไม่มีประกาศเรื่องการโยกย้ายบุคลากร ขณะที่นักการทูตทั้งสามรายไม่ได้ตอบรับคำขอสัมภาษณ์
นโยบายต่างประเทศของทรัมป์เป็นที่คาดกันว่าจะแข็งกร้าวขึ้น โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะสร้างสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และเพิ่มการสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงผลักดันแนวคิดพิสดาร เช่น การผนวกกรีนแลนด์ และกดดันพันธมิตรนาโตให้เพิ่มงบป้องกันประเทศ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การมีนักการทูตที่ว่าง่ายจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
แหล่งข่าวใกล้ชิดเผยว่า รัฐบาลชุดใหม่เตรียมแต่งตั้งข้าราชการการเมืองเข้าไปในตำแหน่งระดับผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งปกติจะเป็นตำแหน่งของข้าราชการประจำ เพราะทีมงานมองว่านักการทูตอาชีพเคย “ขัดขวาง” นโยบายของทรัมป์สมัยแรกในช่วงปี 2560-2564
ขณะนี้ ทีมเตรียมงานกำลังสัมภาษณ์ผู้ที่จะมาแทนที่ทั้ง 3 ตำแหน่ง ซึ่งล้วนมีความสำคัญ โดยโฮแกนเป็นเลขานุการบริหาร ดูแลการไหลเวียนข้อมูลระหว่างสำนักต่าง ๆ ในกระทรวงฯ กับทำเนียบขาว ขณะที่เบอร์นิแคตเป็นอธิบดีกรมการต่างประเทศ ดูแลงานบุคคล ส่วนเทปลิตซ์ทำงานในกระทรวงฯ มากว่า 30 ปี ล่าสุดปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวงด้านการบริหาร ดูแลสำนักต่าง ๆ กว่า 10 แห่งที่รับผิดชอบงานด้านงบประมาณ การสรรหาบุคลากร การจัดซื้อจัดจ้าง และทรัพยากรบุคคลทั่วทั้งองค์กร
“แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งกำหนดนโยบาย แต่ตำแหน่งเหล่านี้เป็นตัวควบคุมกลไกราชการ” เดนนิส เจตต์ อดีตนักการทูต 28 ปี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพนน์สเตตวิเคราะห์ “ถ้าอยากควบคุมระบบราชการ ก็ต้องเริ่มจากจุดนี้”
การเปลี่ยนตัวครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับที่มาร์โก รูบิโอ ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าชี้แจงต่อวุฒิสภาเพื่อขอรับรองตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ประกาศแผน 10 ขั้นตอนในการ “ทำลายรัฐพันลึก” และ “ปลดข้าราชการหัวแข็งและนักการเมืองอาชีพ”
ขั้นตอนแรกคือการรื้อฟื้นคำสั่งปี 2563 ที่จะยกเลิกการคุ้มครองการจ้างงานข้าราชการบางกลุ่ม ทำให้ปลดออกได้ง่ายขึ้น แผนที่เรียกว่า “Schedule F” นี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้ระบบราชการเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะปกติแล้ว ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งข้าราชการการเมืองได้เพียงไม่กี่พันตำแหน่ง แต่แผนนี้จะทำให้สามารถปลดข้าราชการประจำได้ถึง 50,000 คน และแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปแทน
ด้านสหภาพแรงงานและองค์กรเฝ้าระวังการทำงานของรัฐบาลประกาศว่า พร้อมฟ้องศาลหากทรัมป์พยายามนำแผนนี้กลับมาใช้อีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 68)
Tags: นักการทูตอาวุโส, สหรัฐ, โดนัลด์ ทรัมป์