ทิสโก้ คาด SET พักฐาน 2-3 เดือนจากโควิด-เฟดกดดัน แนะธีมลงทุน Value&Quality

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ในเดือนที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวขึ้นทะลุ 1,600 จุดตามคาด โดยแตะระดับสูงสุดที่ 1,642 จุด แต่พลิกถอยกลับมาจนต่ำกว่าระดับ 1,600 จุดอีกครั้ง จากแรงกดดันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยืดเยื้อ และผู้ติดเชื้อใหม่สูงขึ้นเป็นหลัก 4,000 คนต่อวัน นำไปสู่การกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นในพื้นที่สีแดงเข้ม จากที่ก่อนหน้านี้ได้ผ่อนปรนไปเพียงไม่นาน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับมีความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้ารวมทั้งสายพันธุ์อื่นที่อาจซ้ำเติมให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น

ขณะเดียวกัน อัตราการฉีดวัคซีนก็น่าผิดหวัง นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนในวงกว้างเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการฉีดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 แสนโดสต่อวัน ซึ่งยังห่างไกลเป้าหมายที่วางไว้ว่าต้องมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ 5 แสนโดสต่อวัน หากนายกรัฐมนตรีต้องการเปิดประเทศภายใน 120 วัน และ 4.5 แสนโดสต่อวัน หากต้องการเปิดประเทศภายในต้นปีหน้า นอกจาก ปัจจัยกดดันจากการระบาดภายในประเทศแล้ว การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด  อิงจากคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (Dot Plot) ชี้ว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 2 ครั้งในปี 2566 ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิมที่ชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงที่ที่ระดับ 0-0.25% ตลอดจนสิ้นปี 66 จึงมีโอกาสมากขึ้นที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าปี 66 ซึ่งคงต้องรอติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ในด้านกลยุทธ์การเลือกหุ้นลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง บล.ทิสโก้มองว่า โฉมหน้าหุ้นที่น่าสนใจจะเปลี่ยนไปเป็นหุ้นเชิงรับ (Defensive Stocks) และหุ้นเชิงคุณค่า (Value Stocks) มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวยังน่าสนใจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมายังปรับตัวขึ้นน้อยอยู่ (Laggards) ผสานกับส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาวและระยะสั้น (Yield Curve) ที่แปรเปลี่ยนเป็นสภาวะ “Bearish Flattening” ยิ่งตอกย้ำมุมมองการลงทุนข้างต้น เพราะในสภาวะ Bearish Flattening Yield Curve ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนลดลง และอาจมีการปรับฐานเกิดขึ้น ดังนั้น นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ “Selective Buy” ที่คัดเลือกหุ้นในเชิงคุณภาพมากขึ้น เช่น หุ้นที่มีแนวโน้มธุรกิจดี มีการเติบโต ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และระดับการประเมินมูลค่ายังน่าสนใจ

“ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,642 จุด เพราะหุ้นในกลุ่มวัฏจักร (Cyclical Stocks) และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่น เนื่องจากได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่หลังจากนี้หุ้นที่จะปรับขึ้นนำตลาดจะเปลี่ยนไป กลายเป็นหุ้นเชิงรับและหุ้นเชิงคุณค่า เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดที่ขยายตัวดีที่สุดไปแล้ว สะท้อนให้เห็นได้จากดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 64.7 จุดในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งจากข้อมูลในอดีตพบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหุ้นกลุ่มเชิงรับจะให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นวัฏจักร” 

นายอภิชาติกล่าว

ดังนั้น บล.ทิสโก้ มองหุ้นไทยจบรอบแกว่งซิกแซกขึ้นแล้ว เข้าสู่ช่วงการพักฐานแกว่งตัวออกข้างถึงแกว่งตัวลง (ไซด์เวย์ถึงไซด์เวย์ดาวน์) ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า กลยุทธ์การลงทุนต่อจากนี้แนะเลือกหุ้นเป็นรายตัว เน้นที่คุณค่าและคุณภาพ (Value & Quality) โดยมองธีมการลงทุนหลักช่วงนี้จะเกี่ยวกับการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะออกมาดี และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุน

หุ้นเด่นที่เราแนะนำในเดือนกรกฏาคม คือ BCH, BDMS, BEC, JWD, KCE, NYT และ TVO ด้านแนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,570 – 1,575 แนวรับถัดไปคือ 1,565 และ1,550 จุด ขณะที่แนวต้านสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,570 – 1,575 จุด แนวต้านถัดไปคือ 1,565 เมื่อทะลุได้จะทำแนวต้านถัดไป คือ 1,610 1,630 และ 1,645 จุด ตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,