นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 65 มี 3 ปัจจัย คือ 1. ไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดต่อเนื่องและยืดเยื้อ ประเด็นนี้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเมื่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีอัตราการแพร่ระบาดสูงและทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ในอังกฤษ และเดนมาร์ก ที่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุกสองวัน
“แม้ข้อมูลเบื้องต้นอาจชี้ว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดก่อนหน้านี้ แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักพุ่งขึ้นตามจนเกินกำลังของระบบสาธารณะสุข ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ในปี 65 หลายประเทศจำเป็นต้องกลับมาประกาศใช้มาตรการ Lockdown ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกและทำให้ปัญหาเงินเฟ้อยืดเยื้อต่อไปอีก” นายคมศรกล่าว
2. เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงตลอดทั้งปี โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาด้านการผลิตที่ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เท่ากับช่วงก่อนที่โควิด–19 แพร่ระบาด เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งถูกกระทบจากสังคมสูงวัย โดยในสหรัฐฯ มีแรงงานที่ถูกปลดในช่วง โควิด–19 จำนวนมากถึงกว่า 3 ล้านคน เป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ซึ่งส่วนใหญ่อาจตัดสินใจเกษียณอายุและไม่กลับสู่ตลาดแรงงานอีกแล้ว
นอกจากนั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงกระแส Deglobalization ยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะยาว ในขณะที่ความพยามในการลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้การลงทุนในแหล่งพลังงานฟอสซิลลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้ต้นทุนราคาพลังงานสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
และปัจจัยที่ 3. นโยบายการเงินที่เข้มงวด ประเด็นนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดว่า ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางจะทำให้นโยบายการเงินมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นอย่างชัดเจนในปีหน้า โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะยุตินโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย (QE) ในไตรมาส 1/2565 และอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในทันทีที่ QE ยุติลง ซึ่งสภาพคล่องที่ลดลงและดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นชัดเจน จะเป็นปัจจัยกดดันต่อมูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นในปี565 โดยข้อมูลในอดีตชี้ว่าค่าอัตราราคาปิดต่อกำไร (P/E) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) จะลดลงเฉลี่ย 5% ในช่วง 2 – 3 เดือนหลังจากที่เฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก
นายคมศร กล่าวอีกว่า ภาพการลงทุนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่าไตรมาส 1/65 จะเป็นช่วงที่เสี่ยงที่สุดสำหรับตลาดหุ้นในปี 65 โดยมีปัจจัยกดดันจาก 1. ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากอุปสงค์ที่กลับสู่ภาวะปกติหลังแรงหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดไป 2. ความเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอน และ 3. การยุตินโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย (QE) และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
จาก 3 ประเด็นข้างต้นคาดว่าในไตรมาส 1/65 ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจปรับฐานประมาณ 5% แต่ยังคาดว่าสิ้นปี 65 ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกตามการขยายตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ดังนั้น หากลงลึกการลงทุนไปยังรายประเทศ มองว่า ตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจาก 1. มูลค่าหุ้นที่ยังถูกกว่า และมีส่วนลด (Discount) ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในอดีต และ 2. ความยืดหยุ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นมีมากกว่าสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูง ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) จะถูกกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น และให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)
Tags: คมศร ประกอบผล, ตลาดหุ้น, ทิสโก้, หุ้นไทย