สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (5 ก.พ.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยฉุดตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาด
- ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 10.80 ดอลลาร์ หรือ 0.53% ปิดที่ 2,042.90 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 37.40 เซนต์ หรือ 1.64% ปิดที่ 22.422 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.90 ดอลลาร์ หรือ 0.21% ปิดที่ 903.50 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 7.10 ดอลลาร์ หรือ 0.75% ปิดที่ 956.10 ดอลลาร์/ออนซ์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.162% ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.51% แตะที่ระดับ 104.452 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 Minutes” ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า เฟดจะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
นักลงทุนปรับลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการที่แข็งแกร่ง โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ให้น้ำหนัก 59.9%
ทั้งนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.4 ในเดือนม.ค. จากระดับ 50.5 ในเดือนธ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0 โดยดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัว และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 67)
Tags: COMEX, ทองคำนิวยอร์ก, ราคาทอง, ราคาทองคำ