สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) และเป็นการปิดในแดนลบติดต่อกัน 4 วันทำการ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยฉุดตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 20.90 ดอลลาร์ หรือ 1.06% ปิดที่ 1,943.70 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 33 เซนต์ หรือ 1.42% ปิดที่ 22.91 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 3.20 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,026.30 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.50 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,415.60 ดอลลาร์/ออนซ์
การแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.34% แตะที่ระดับ 104.2424 เมื่อคืนนี้
ไมเคิล ฮิวสัน นักวิเคราะห์จากบริษัท CMC Markets UK กล่าวว่า “ดอลลาร์แข็งค่าติดต่อกันหลายวัน เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้เครดิตพินิจ (Rating Watch) ของสหรัฐเป็นเชิงลบ และเตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ AAA เราคาดว่าหากดอลลาร์ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ก็อาจฉุดราคาทองคำดิ่งลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์”
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 66)
Tags: ตลาดทองคำ, ทองคำ, ทองคำนิวยอร์ก, ราคาทอง