ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) ที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจน้ำตาล ตลอดจนประโยชน์จากการกระจายธุรกิจไปสู่การผลิตไฟฟ้าและการผลิตบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีโรงงานผลิตน้ำตาลเพียงแห่งเดียว รวมไปถึงราคาน้ำตาลที่เป็นวัฏจักรขึ้นลง ปริมาณผลผลิตอ้อยที่มีความผันผวน และระดับหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจ: ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก กอปรกับปริมาณอ้อยที่ฟื้นตัวขึ้นภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงปี 2563-2564 ในขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็ได้รับอานิสงส์จากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 85.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 7.4 พันล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 146.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.5 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อไปจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15.2% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งถึงระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ระดับ 24.6 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนเมษายน 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลจะยังคงเป็นไปในทางบวกและแกว่งตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงระหว่างปี 2566-2567 ก่อนที่จะกลับสู่ระดับปกติในปี 2568 เนื่องจากผลผลิตอ้อยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่หลายพื้นที่
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 แม้ว่าราคาน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงเนื่องจากปริมาณอ้อยของบริษัทในปี 2566 ลดลงอย่างมากจากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในช่วงปลายปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณอ้อยของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตตามกลยุทธ์การเพิ่มผลผลิตอ้อยที่บริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการ โดย EBITDA Margin ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18.6% ในปี 2566 และจะอยู่ที่ระดับ 14%-17% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568 จากราคาน้ำตาลที่คาดว่าจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับปกติในปี 2568 ในขณะที่ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2566 และที่ระดับ 750-900 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2567-2568
สถานะงบดุลที่ดีขึ้น: การมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้ส่งผลให้อัตราส่วนภาระหนี้สินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาก โดย ณ เดือนมีนาคม 2566 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.2 พันล้านบาท ลดจาก 6.1 พันล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 3.2 เท่าในปี 2565 และ 3.7 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับ 10.2 เท่าในปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 64% ในปี 2565 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2566 จากระดับ 75.9% ในปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเอาไว้ได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการขยายงานและลงทุนที่ประมาณปีละ 200-300 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2568 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อขยายการผลิตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจเชื้อเพลิงอัดแท่งชีวมวล ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60% ในปี 2568 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 4.2-5.4 เท่าในระหว่างปี 2566-2568
เป็นผู้ผลิตน้ำตาลขนาดค่อนข้างเล็กที่มีความเสี่ยงจากการมีโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียว: บริษัทมีโรงงานผลิตน้ำตาลเพียงแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งการมีสถานประกอบการเพียงแห่งเดียวส่งผลต่อความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในเรื่องของการดำเนินงานและการจัดหาวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการจัดหาวัตถุดิบของบริษัทถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทมีสถานะเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ บริษัทและโรงงานน้ำตาลอื่น ๆ ในจังหวัดใกล้เคียงยังได้มีการแบ่งพื้นที่รับซื้ออ้อยเพื่อป้องกันปัญหาการแย่งผลผลิตอ้อยระหว่างกัน
ในด้านของปริมาณน้ำตาลนั้น ผลผลิตน้ำตาลของบริษัทค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาลรายอื่น ๆ ของประเทศ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับเพียง 2%-3% ของปริมาณผลผลิตน้ำตาลในประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้จากธุรกิจน้ำตาลของบริษัทก็อยู่ที่ระดับ 2.9-5.9 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายเล็ก แต่บริษัทก็มีผลผลิตน้ำตาลต่อหน่วยพื้นที่ (Sugar Yield) สูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 จากจำนวนโรงงานน้ำตาล 57 แห่งในประเทศ ซึ่งผลผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพของบริษัทนั้นเกิดจากคุณภาพของอ้อยที่ผลิตได้ในพื้นที่รอบโรงงานของบริษัทเอง
กระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจผลิตไฟฟ้า: บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยและผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล โดยธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลักของบริษัทคือธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้นบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ 6%-10% ของรายได้รวมของบริษัท
บริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 3 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวมที่ขนาด 29.7 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 16 เมกะวัตต์ อนึ่ง ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างรายได้ที่มั่นคงซึ่งช่วยลดทอนความผันผวนของราคาน้ำตาลลงได้บ้างบางส่วน
ขยายกิจการไปยังธุรกิจบรรจุภัณฑ์: จากกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากธุรกิจน้ำตาลและเพื่อตอบรับกับกระแสความนิยมในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงได้ขยายธุรกิจไปยังการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้โดยใช้เยื่อจากชานอ้อยมาใช้ในการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทต่าง ๆ เช่น จานและชาม ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ (ประมาณ 90%) มีเป้าหมายในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ ภายใต้คำสั่งการจ้างผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง (Original Equipment Manufacturer — OEM) นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดในประเทศภายใต้แบรนด์ของตนเองคือ “SEW” อีกด้วย
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้ยังน้อยมากโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ของรายได้รวมของบริษัทเท่านั้น บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตที่สัดส่วนประมาณ 7% ของรายได้รวมภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจากการมียอดคำสั่งซื้อที่ได้รับและแผนการขยายงานของบริษัท โดยมีอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุน
มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ: ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในระดับที่เพียงพอ ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 800-1,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 325 ล้านบาทและยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 4 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายและภาระหนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายในช่วง 1 ปีข้างหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 600 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินได้ตามข้อกำหนดของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนซึ่งไม่รวมเงินกู้ยืมจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (Buriram Sugar Group Power Plant Infrastructure Fund — BRRGIF) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 1.4 เท่าซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่าที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของหุ้นกู้
ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 2.2 พันล้านบาทจากหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมดจำนวน 5.5 พันล้านบาทซึ่งไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนนั้นเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทย่อยของบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 41%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้จากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568
- EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับประมาณ 18.6% ในปี 2566 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14%-17% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568
- ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยเอาไว้ได้ อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องหรือมีวงเงินสินเชื่อสำรองที่เพียงพอสำหรับรองรับภาระหนี้ได้ ในการนี้ ระบบแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ตลอดจนรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า และรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์น่าจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของธุรกิจผลิตน้ำตาลได้บางส่วน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถสร้างกำไรเพิ่มขึ้นโดยไม่ทำให้งบการเงินอ่อนแอลงโดยที่มีระดับ EBITDA สูงกว่า 1.5 พันล้านบาทและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อการลงทุนจนส่งผลให้งบดุลและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 66)
Tags: BRR, ทริสเรทติ้ง, น้ำตาลบุรีรัมย์, หุ้นไทย