ทริสฯ ให้เครดิตหุ้นกู้ใหม่ 2 พันลบ.ของ BEC ที่ BBB ปรับแนวโน้ม Positive

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB” แนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมทีวี การมีคอนเทนต์ละครจำนวนมาก และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง อันดับเครดิตยังคำนึงถึงปัจจัยกดดันด้านรายได้ค่าโฆษณาจากการที่ผู้ชมหันไปบริโภคสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง การแข่งขันที่รุนแรงจากทุก ๆ สื่อ และภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง อันดับเครดิตอาจถูกปรับขึ้นได้หากบริษัทสามารถแสดงให้เห็นว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคอนเทนต์ละครและจากธุรกิจอื่น ๆ ขณะที่ยังสามารถรักษาความเข็มแข็งของรายได้จากค่าโฆษณาทางทีวี และควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสม

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นจากการลดต้นทุน พัฒนาการด้านต้นทุนดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ปรากฏผล ขนาดองค์กรที่เล็กลงและต้นทุนด้านบุคลากรที่ลดลง การเลือกสรรตลอดจนการควบคุมต้นทุนในการผลิตหรือซื้อคอนเทนต์ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายต่าง ๆ ที่ลดลงล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2564 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัท (EBITDA Margin) อยู่ที่ 26.2% เทียบกับระดับ 5%-10% ในปี 2560-2563

บริษัทรายงานกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านบาท เปรียบเทียบกับ 433 ล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ของทริสเรทติ้ง ค่าตัดจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการจะถูกคิดเป็นต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัท และไม่ได้ถูกบวกกลับในการคำนวณ EBITDA

บริษัทรายงานรายได้ 5.7 พันล้านบาทในปี 2564 ลดลง 3% จากปี 2563 ซึ่งการลดลงดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทขายเงินลงทุนใน บริษัท เทโร เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม บีอีซี เทโร เอนเตอร์เทนเมนท์) ออกไปในเดือนธันวาคมปี 2563 รายได้ค่าโฆษณาของบริษัทเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากทั้งจำนวนนาทีการขายโฆษณาและราคาขายโฆษณา โดยมาจากรายการข่าวที่มีการปรับรูปแบบการนำเสนอและละครในช่วงเวลาไพรมไทม์ (Prime Time) เป็นหลัก ในขณะที่รายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการไปต่างประเทศและช่องทางออนไลน์ลดลง 19.7% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 846 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากแผนการออกอากาศแบบ Simulcast ได้รับผลกระทบจากการถ่ายทำที่หยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

– คาดการณ์ว่ารายได้จะไม่ลดลงมากกว่านี้ สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 6-6.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 โดยรายได้ค่าโฆษณาจะฟื้นตัวในระดับปานกลางจากการที่สินค้ามีความต้องการการโฆษณามากขึ้นเมื่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถขึ้นราคาค่าโฆษณาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาไพรมไทม์ (Prime Time) จากการใช้ละครที่เคยออกอากาศไปแล้ว (Rerun) ลดลง ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาบริษัทฉายละครที่เคยออกอากาศไปแล้วราว ๆ 1 ใน 4 ของละครที่ออกอากาศทั้งหมด

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่า รายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศและช่องทางออนไลน์จะยังคงเติบโตจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากการ Simulcast จากการคาดการณ์ว่าปัญหาในการถ่ายทำจะลดลง ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่า ความพยายามของบริษัทในธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งภาพยนตร์ เพลง และแอปพลิเคชัน (CH3 Plus และ CH3 Plus Premium) จะช่วยส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจของบริษัทให้เข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจใหม่ดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ

จากการคาดการณ์ว่าบริษัทจะลดจำนวนการฉายละครที่เคยออกอากาศแล้วลงจำนวนมาก ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่าต้นทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 18%-20% ในช่วงปี 2565-2567 โดยอัตรากำไรดังกล่าวจะทำให้บริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 1-1.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 พฤติกรรมในการรับชมสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันจากทุก ๆ สื่อ และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้จากโฆษณาของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่าทีวีจะยังคงเป็นสื่อหลักที่สินค้าต่าง ๆ จะใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้บริโภค นอกจากนี้ ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา และโครงสร้างต้นทุนที่เหมาะสมกับการดำเนินงานในปัจจุบัน

– มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องเพียงพอ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีเงินสดในมือสูงกว่าระดับหนี้สินที่มี โดยบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 4.7 พันล้านบาท ขณะที่มีหนี้หุ้นกู้จำนวน 3 พันล้านบาท สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 0.5 เท่าในปี 2565-2567 โดยสมมติฐานดังกล่าวได้คำนึงถึงนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรสุทธิของบริษัท และรวมการคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีแผนลงทุนรวมประมาณ 1.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้าโดยพิจารณาจากแหล่งที่มาและแผนการใช้เงินทุนของบริษัท ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 915 ล้านบาทและมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2564 อีกจำนวน 4.7 พันล้านบาท แผนการลงทุนประมาณ 700-800 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ 3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะรีไฟแนนซ์ด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ 2 พันล้านบาท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-บริษัทจะมีรายได้ 6-6.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567

-EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 18%-20% ในช่วงปี 2565-2567

-บริษัทจะมีแผนลงทุนรวมประมาณ 1.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องได้ด้วยโครงสร้างต้นทุนที่ดีขึ้น

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถแสดงให้เห็นว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มรายได้ขณะที่ยังสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสมจนทำให้ EBITDA ของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 1 พันล้านบาทได้อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ ทั้งจากภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่องของงบโฆษณาหรือจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจและรูปแบบสื่ออื่น ๆ ที่สามารถทดแทนกันได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,