ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 6 พันลบ.ของ LH ที่ระดับ A แนวโน้ม “Stable”

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาทและไถ่ถอนภายใน 5 ปีของ บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ [LH] ที่ระดับ “A” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่บางส่วนและ/หรือเพื่อขยายธุรกิจ

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลาย และความยืดหยุ่นทางการเงินจากการที่บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์มูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังเผชิญกับแรงกดดันจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและยอดขายที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ทั้งนี้การผ่อนปรนกฎเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 อาจช่วยสนับสนุนความต้องการที่อยู่อาศัยได้ โดยกฎเกณฑ์ใหม่อนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้ยืมได้ 100% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับบ้านทุกระดับราคาและทุกสัญญา มาตรกรลดข้อกำหนดเงินดาวน์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผ่อนปรนการซื้อบ้านและอาจช่วยกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัยได้นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าผลกระทบจากแผ่นดินไหวล่าสุด จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากพอร์ตสินค้าของบริษัทมุ่งเน้นไปที่โครงการบ้านจัดสรรเป็นหลัก แตกต่างจากผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมแนวสูง

รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2567 ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มาอยู่ที่ 2.58 หมื่นล้านบาท จาก 3.63 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 2.74 หมื่นล้านบาทในปี 2566 รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยลดลง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เหลือ 1.61 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและบริการเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 9.1 พันล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นในปี 2567 อยู่ที่ 30% ลดลงจาก 32% ในปี 2566 ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ EBITDA Margin ของบริษัทลดลงเหลือ 37% จากเกือบ 40% ในปี 2566

ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2568-2569 จะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในปี 2567 โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.0-3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2568-2569 นอกจากนี้ การที่บริษัทมุ่งเน้นตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ LTV ซึ่งสอดคล้องกับราคาขายเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยของบริษัทที่ประมาณ 10 ล้านบาท ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ที่มั่นคงจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าที่ระดับ 8 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่ EBITDA มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.1-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมี EBITDA Margin อยู่ในช่วง 37%-39% ในปี 2568-2569

การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ประจำ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2567 ขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินลดลงเหลือ 9% อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นและแผนการขายทรัพย์สินให้เช่าบางส่วนของบริษัท ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะลดลงมาอยู่ที่ 50-55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินจะปรับเพิ่มเป็น 11%-15% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ เดือนธันวาคม 2567 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 3.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1.54 หมื่นล้านบาท ตั๋วแลกเงินจำนวน 1.36 หมื่นล้านบาท เงินกู้โครงการจำนวน 0.4 พันล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าอีกจำนวน 1.2 พันล้านบาท ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัทนั้นประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 3.9 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกอีกจำนวน 8.7 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ 8 พันล้านบาทในปี 2568 โดยปกติแล้วบริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ และวางแผนเปลี่ยนตั๋วแลกเงินเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวหรือหุ้นกู้เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลงสู่ระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัทในบริษัทร่วมทั้ง 4 บริษัท (บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) บมจ. แอลเอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) และ บมจ. ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ (Q-CON)) จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน โดย ณ สิ้นปี2567 มูลค่าตลาดของเงินลงทุนในบริษัทร่วมทั้ง 4 แห่งอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท

ณ เดือนธันวาคม 2567 หนี้สินรวม ซึ่งไม่นับรวมหนี้สินตามสัญญาเช่า จำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้2.1 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้เงินกู้ทั้งหมดที่ดำเนินการโดยบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ 29%

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ที่กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้ต่ำกว่า 2 เท่าโดย ณ เดือนธันวาคม 2567 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.3 เท่า ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

*แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งไว้ได้ พร้อมทั้งคงผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในช่วง 50%-55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 11%-15% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

*ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้น หากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงต่ำกว่า 50% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับที่สูงกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยจากระดับปัจจุบัน จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเกิน 60% และ/หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงต่ำกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 68)

Tags: , ,