ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ AMATA ระดับ A- แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตลอดจนฐานรายได้ประจำจำนวนมากจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและเงินปันผลรับจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทในต่างประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังคงพิจารณาถึงความท้าทายหลากหลายประการ ทั้งจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดเงินทุนที่ตึงตัว และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– ยอดขายที่ดินมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายที่ดินของบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งทาง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ตลอดจนความกังวลในการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ อุปสงค์ในที่ดินยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ในนิคมใหม่ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท โดยสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า บริษัทจะมียอดขายที่ดินในไทยเพิ่มขึ้นมากโดยอยู่ที่ประมาณ 800-900 ไร่ต่อปีในช่วงปี 2567-2568 และกลับมาอยู่ที่ระดับปกติที่ 600 ไร่ในปี 2569

ในช่วงที่ผ่านมายอดขายที่ดินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเพิ่มมาอยู่ที่ 1,480 ไร่ในปี 2566 และ 302 ไร่ในไตรมาสแรกของปี 2567 จากระดับ 500-650 ไร่ในปี 2564-2565 การเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีนและไต้หวันจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ในอนาคตข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับอย่างยาวนานผนวกกับการมีที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ และการมีพันธมิตรชาวจีน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทอยู่ในสถานะที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากการมีที่ดินจำนวนมากประมาณ 15,000 ไร่ ซึ่งรวมถึงที่ดินในนิคมใหม่ที่จังหวัดชลบุรีจำนวน 2,000 ไร่ ทั้งนี้ ที่ดินทั้งหมดของบริษัทอยู่ในเขตโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดชลบุรีและระยอง

– การเติบโตของรายได้จากยอดขายที่ดินรอส่งมอบจำนวนมาก ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีที่ดินที่ขายแล้วและรอการส่งมอบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าระดับปกติของบริษัทที่ 3-5 พันล้านบาท ยอดขายดังกล่าวคาดว่าจะทยอยส่งมอบที่ดินและรับรู้เป็นรายได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการขายที่ดินคาดว่าจะเพิ่มจากระดับ 2.6 พันล้านบาทในปี 2565-2566 มาอยู่ที่ระดับ 5-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2569

– ผลการดำเนินงานในประเทศเวียดนามยังมีแนวโน้มที่ดี ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองบวกต่อการเติบโตของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยทางการเมืองก็ตาม การเติบโตดังกล่าวมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) จากการที่ประเทศเวียดนามมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำและมีทำเลที่ตั้งใกล้ประเทศจีน ตลอดจนสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามของบริษัทมีความผันผวนอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการลดลงของที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของบริษัท และความล่าช้าในการได้รับใบอนุญาตในนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่จากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ และความไม่แน่นอนทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม บริษัทมียอดขายที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2566 ยอดขายที่ดินเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 373 ไร่ในปี 2566 จากยอดขายรวม 397 ไร่ในช่วงปี 2564-2565 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของที่ดินพร้อมขาย ซึ่งประกอบด้วยโครงการอมตะซิตี้ ฮาลอง เฟสที่ 2 และ โครงการอมตะซิตี้ ลองถั่น เฟสที่ 1 ส่งผลให้รายได้จากการโอนที่ดินเพิ่มมาอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาทในปี 2566 และ 110 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2567 จากระดับ 204 ล้านบาทถึง 1 พันล้านบาทในปี 2564-2565

ในอนาคตข้างหน้า แม้ว่ายอดขายที่ดินจะยังมีแนวโน้มที่ดี ตลอดจนได้รับความร่วมมือกับพันธมิตรชาวญี่ปุ่นรายใหม่ แต่รายได้จาการขายที่ดินของบริษัทจะถูกจำกัดโดยจำนวนที่ดินพร้อมขาย ทั้งนี้ ประมาณการของทริสเรทติ้งอิงจากพื้นที่พร้อมขายในโครงการอมตะซิตี้ ฮาลอง และโครงการอมตะซิตี้ ลองถั่นในเฟสปัจจุบัน ซึ่งในเฟสถัดไปและโครงการอื่น ๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตการลงทุนซึ่งต้องใช้เวลานานและมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามจะอยู่ที่ระดับ 300-400 ไร่ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และรายได้จากการโอนที่ดินจะอยู่ที่ประมาณ 2.0-2.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน

– ฐานรายได้ประจำช่วยลดผลกระทบในช่วงเศรษฐกิจขาลง ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคของบริษัทครอบคลุมไปถึงการให้บริการน้ำดิบ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และบริการบำบัดน้ำเสีย ในประเทศไทยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.0 พันล้านบาทในปี 2566 จาก 1.3 พันล้านบาทในปี 2556 คิดเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้นที่ระดับ 4.5% ต่อปี โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณลูกค้าและความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทให้บริการสาธารณูปโภคและไฟฟ้าแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในประเทศเวียดนามผ่านทางบริษัทย่อย รายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.9 พันล้านบาทในปี 2566 และ 0.9 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2567 จาก 1 พันล้านบาทในปี 2565 อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำและไฟที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากลูกค้าใหม่

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5-7 พันล้านบาทต่อปีในปี 2567-2569 เพิ่มขึ้นจาก 3.9 พันล้านบาทในปี 2566

– เงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้าช่วยเพิ่มกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ บริษัทได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่งร่วมกับ บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด ปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 260 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นผ่านกิจการร่วมทุนในสัดส่วน 4.0% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ (ABPIF) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 2 แห่งในจังหวัดชลบุรีด้วย

ในปี 2566 บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำในปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการลดลงของค่าก๊าซและการปรับราคาค่าไฟ ส่งผลให้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนของบริษัทเพิ่มมาอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาทในปี 2566 จากระดับ 342 ล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่เงินปันผลรับจากการลงทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 581 ล้านบาทในปี 2566 จากระดับ 157 ล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้สมมติฐานพื้นฐานของ ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปีตลอดช่วงประมาณการ

– แม้ว่าจะมีแผนลงทุนจำนวนมาก แต่ก็คาดว่าระดับหนี้สินจะอยู่ในระดับปานกลาง หนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการซื้อที่ดินจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 หนี้สินสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับ 4.3-4.4 เท่าในปี 2566 และไตรมาสแรกของปี 2567 เพิ่มจากระดับ 3.1 เท่าในปี 2565

ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากการที่บริษัทมีแผนลงทุนจำนวนมากในที่ดินทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่งในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนและงบซื้อที่ดินรวมประมาณ 7 พันล้านบาทถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2569 การลงทุนประกอบด้วยการซื้อที่ดินและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่หลายแห่งในประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

ทั้งนี้ จากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากการขายที่ดินในประเทศไทยและเวียดนาม ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 4.5-5.6 พันล้านบาทต่อปีในปี 2567-2569 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 5 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 45%-48% ในช่วงเวลาเดียวกัน

– สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 5 พันล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน จำนวน 2.7 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวจำนวน 2.2 พันล้านบาท และค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณ 7 พันล้านบาทถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 ประกอบด้วยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.4 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 6.6 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจำนวนประมาณ 1.8 พันล้านบาทจากสถาบันการเงิน ทริสเรทติ้งยังคงมองว่าบริษัทจะสามารถรักษาสภาพคล่องไว้ได้แม้ในช่วงที่บริษัทอาจเผชิญภาวะความไม่แน่นอนทางธุรกิจก็ตาม

ตามข้อกำหนดทางการเงินของตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้ต่ำกว่า 2.5 เท่านั้น ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.6 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ

– โครงสร้างหนี้สิน ณ เดือนมีนาคม 2567 หนี้สินทางการเงินรวมของบริษัท ซึ่งไม่นับรวมหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงิน มีจำนวนทั้งสิ้น 1.6 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนจำนวน 5.6 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนเทียบกับหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับประมาณ 34%

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.3-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2569

– EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับประมาณ 33% ในปี 2567-2569 ลดลงจากระดับ 37% ในปี 2566 จากการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนรายได้

– ค่าใช้จ่ายลงทุนและค่าพัฒนาที่ดินจะอยู่ที่ระดับ 7 พันล้านบาทถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต่อไปได้ ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค รวมทั้งเงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และรายได้ค่าเช่าโรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานให้แก่บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากภาระหนี้ของบริษัทลดลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ต่ำกว่า 4 เท่าอย่างมากและต่อเนื่อง ตลอดจนมีผลการดำเนินที่ดีจากประเทศเวียดนาม ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลง หากผลการดำเนินงานอ่อนกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้อย่างมากจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA สูงเกินกว่าประมาณการที่คาดไว้เป็นระยะเวลานาน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 67)

Tags: ,