ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 1 หมื่นลบ.ของ CPN ที่ AA แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “AA” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปชำระคืนหุ้นกู้และเงินกู้ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทย ตลอดจนผลงานในการบริหารศูนย์การค้าคุณภาพสูง และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการตามสัญญา นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจของบริษัทในช่วงปี 2565-2567 รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยังดำเนินอยู่ซึ่งยังคงส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและอุปสงค์ของพื้นที่ค้าปลีกอีกด้วย

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้าเอาไว้ได้แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังไม่สิ้นสุดก็ตาม หลังจากซื้อกิจการของ บมจ. สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) แล้ว บริษัทมีพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าเพิ่มขึ้น 20% คิดเป็น 2.3 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) โดยคอมมูนิตี้มอลล์ทั้ง 18 แห่งและศูนย์การค้าขนาดใหญ่อีก 1 แห่งของบริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ช่วยเสริมความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทยให้แข็งแกร่งและครอบคลุมมากขึ้น

ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทบริหารศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์รวม 55 แห่ง โดย 33 แห่งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 21 แห่งอยู่ในเขตต่างจังหวัด 1 แห่งอยู่ในประเทศมาเลเซีย และบริษัทยังมีพื้นที่ค้าปลีกซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ บมจ. แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GRAND) อีกด้วย ทั้งนี้ สถานะผู้นำของบริษัทเกิดจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากถึง 22% ของพื้นที่ค้าปลีกทั่วประเทศและมีอัตราการเช่าที่สูงเกินกว่า 90% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลายระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการปิดศูนย์การค้าตามคำสั่งของภาครัฐตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าตามระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบตลอดปี 2564 ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานรวมลดลง 31% จากปี 2562 เหลือ 2.62 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 21% จากระดับก่อนการแพร่ระบาดเหลือ 1.77 หมื่นล้านบาทในปี 2564

ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้เข้าใช้บริการศูนย์การค้าตลอดปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 75%-85% ของระดับก่อนการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่น้อยลงและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด 19 ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบต่อไปอีกตลอดปี 2565 และคาดว่าค่าเช่าน่าจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ 3% ในปี 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดศูนย์การค้าใหม่จำนวน 1-3 แห่งต่อปีตลอดช่วงเวลาประมาณการ โดยคาดว่าอัตราการเช่าพื้นที่โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 90%

ทั้งนี้ ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมจากทุกธุรกิจของบริษัทจะเท่ากับ 2.8-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่า EBITDA ซึ่งรวมกำไรจากการให้เช่าสินทรัพย์แก่ทรัสต์ฯ ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.9-2.5 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567 โดยอัตรากำไรสุทธิของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 27% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมตลอดช่วงเวลาประมาณการ

ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับทุกธุรกิจประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถลดหนี้ได้ตามแผนแม้ว่าการซื้อกิจการของบริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์จะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ทั้งจำนวน โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถจำหน่ายศูนย์การค้าทั้ง 2 แห่งของบริษัทให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) ในช่วงปลายปี 2565 และให้เช่าสินทรัพย์แก่ทรัสต์ฯ เพิ่มเติมอีกในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายและให้เช่าสินทรัพย์ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 2.0-2.5 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2566 นั้นน่าจะช่วยลดภาระหนี้เงินกู้ของบริษัทลงได้บางส่วน ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิ (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4.5 เท่าตลอดช่วงประมาณการและรักษาอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายให้อยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่าเอาไว้ได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหนี้ระยะสั้นจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจำนวน 6.1 พันล้านบาท หุ้นกู้จำนวน 6 พันล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าจำนวน 2.8 พันล้านบาท

โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนจำนวน 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 3.1 พันล้านบาทและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.9 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้อีกจำนวน 1.16 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก็คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2565 บริษัทยังมีสินทรัพย์ที่ปลอดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีจำนวนประมาณ 1.65 แสนล้านบาทที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอเงินกู้จากธนาคารในกรณีที่จำเป็นได้อีกด้วย

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 5.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ของบริษัทอยู่ที่ระดับเพียง 2% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 35% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า” ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใดเมื่อพิจารณาจากลำดับชั้นในการได้รับคืนเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามประมาณการแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทจะขยายธุรกิจเชิงรุกมากขึ้น แต่ก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิ (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4.5 เท่า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นในขณะที่ยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้นำทางธุรกิจเอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิ (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 4.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,