นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เดินสายทำการตลาดประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในตลาดตะวันออกกลาง เริ่มจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในตะวันออกกลางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาราเบีย
ทำให้มีการเปิดไฟลท์บินจากซาอุดิอาราเบียเข้าไทย โดยที่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ ททท.เล็งเห็นถึงความสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอาเซียน เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยทดแทนกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่ชะลอตัวลงไปจากภาวะสงครามกับยูเครน
ทั้งนี้ หลังจากที่ประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ โดยยกเว้นการตรวจแบบ RT-PCR จากประเทศต้นทางก่อนเข้าไทย เหลือเพียงการตรวจแบบ Test&Go ในวันแรกเมื่อเดินทางมาถึงและตรวจ self-ATK อีกครั้งในวันที่ 5 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักทันที สะท้อนผ่านจำนวนเที่ยวบินและตัวเลขของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลักหมื่นคนต่อวัน
นอกจากนี้ทางภาครัฐยังเตรียมนโยบายผลักดันเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขการเข้าประเทศทั้งหมดให้เหมือนกับก่อนวิกฤตโควิด-19 หรือช่วงก่อนปี 63 ด้วยการเสนอศบค.เพื่อยกเลิกการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass รวมถึงการเข้าประเทศในรูปแบบอื่นๆที่เป็นมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ Test & Go และพื่นที่ในโครงการ Sandbox ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป ทำให้ภาพรวมของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะทยอยชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งในปีนี้ ททท.ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 7 ล้านคน คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศถึง 1.07 ล้านล้านบาท กลับมาเป็นหนึ่งในกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้อาจจะมีการชะลอตัวไปบ้างจากกำลังซื้อที่เริ่มชะลอตัว แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจะสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นอาจจะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยอาจยังมีการเดินทางท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่การจับจ่ายต่อหัวคาดว่าจะลดลงจากครึ่งปีแรก ทำให้ ททท.จะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ที่จะหาแนวทางดึงกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยในภาคการท่องเที่ยวเติบโตได้
สำหรับนโยบายการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในปี 65 ททท.จะมุ่งขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด Amazing Thailand New Chapter หรือการนำเสนอภาพใหม่ของการท่องเที่ยวไทยที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวด้วยเรื่องราวแบบใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ผ่านการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทย เพื่อก้าวสู่วิถีใหม่ ในทุกมิติ
รวมทั้วบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ททท.กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพนำนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการให้บริการ ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการ และสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวยุควิถีปกติใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันยังมีการดำเนินกลยุทธ์ในการเปลี่ยนทุกที่ในแหล่งท่องเที่ยวเป็นสถานที่ทำงานได้ ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะสามารถช่วยรองรับการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE) เข้าสู่ประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้อีกมาก รวมถึงเป็นการกระจายเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวออกไปสู่หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป
“สิ่งที่สำคัญนอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแล้วนั้น เราต้องคิดตลอดว่าจะทำยังไงให้เราสามารถดึงเงินในกระเป๋าจากนักท่องเที่ยวออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะหากมาท่องเที่ยวอย่างเดียวก็จะไม่เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน แต่จะทำยังไงให้เม็ดเงินของนักท่องเที่ยวออกมาหมุนเวียนในเศรษฐกิจ ทำให้เขามีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไม่ใช่แต่เพียงการเดินทางเข้ามาเพื่อพักผ่อน ซึ่งเม็ดเงินจากการจับจ่ายจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ช่วยคนท้องถิ่น ธุรกิจรายเล็กและกลางให้กลับฟื้นขึ้นได้”
นางสาวสมฤดี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: การท่องเที่ยว, ททท., สมฤดี จิตรจง