ททท. ตั้งเป้าปี 67 ต่างชาติเที่ยวไทย 35 ล้านคน รายได้กลับมา 3 ล้านลบ.ใกล้เคียงปี 62

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ตั้งเป้าหมายรายได้ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 67 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท ดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทยจำนวน 35 ล้านคน ขณะที่ตลาดในประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียน 1.08 ล้านล้านบาท จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย 200 ล้านคน-ครั้ง

ทั้งนี้ ททท. จะผลักดันรายได้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับรายได้ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับในปี 62 ก่อนสถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโควิด-19 บนพื้นฐานของสถานการณ์ท่องเที่ยว ที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario)

“ในปี 67 ททท. ตั้งเป้านำการท่องเที่ยวกลับมาในแง่ของรายได้ โดยตั้งเป้ารายได้จากตลาดต่างประเทศ มาจากนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพิ่มการใช้จ่ายให้มากขึ้นอยู่ที่ 54,800 บาท/คน ส่วนตลาดในประเทศ เพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 4,000 บาท/คน อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ท่องเที่ยวเกิดกรณีเลวร้ายสุด จะมีรายได้เท่าปี 66 หรือเท่ากับ 80% ที่ทำได้ในปี 62 กรณีตีฐาน คือ 90% ของปี 62 และกรณีที่ดีที่สุดคือกลับมา 100% เท่ากับปี 62”

นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน มองว่าน่าจะฟื้นตัวเต็มที่เร็วที่สุดในไตรมาส 4/67 หรืออย่างช้าสุดไฟล์ททั้งหมดจะกลับมาในปี 1/68 อย่างไรก็ดี ททท. ไม่เน้นเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว แต่จะให้ความสำคัญต่อนักท่องเที่ยวคุณภาพ และรายจ่ายต่อทริปที่เพิ่มขึ้น พร้อมจับตาการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่ล่าสุดจำนวนไฟล์ทเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่เศรษฐจีนยังชะลอตัว

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ปี 67 ถือเป็นปีแห่งการเร่งฟื้นฟู (Resilience) พร้อมพลิกโฉมสู่ High Value and Sustainable Tourism ที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน ททท. จึงได้ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ ททท. แบบ Moving forward to Better เดินหน้าต่อเนื่องสู่ก้าวต่อไปของการท่องเที่ยวไทยที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวใหม่ New Ecosystem ด้วยการลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจำนวนมาก สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง พัฒนาห่วงโซ่อุปทานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมฯ ให้พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ รวมทั้งกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งมิติความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มิติสังคมอยู่ดีมีสุข มิติสิ่งแวดล้อมที่ดี และมิติภูมิปัญญา

ททท. ยังพยายามสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยว (Tourism Security) เสริมทัพด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน 2. พัฒนาปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว 3. ใช้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล และ 4. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงภายนอก อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า ในปี 67 ททท. จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสานต่อการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า เพื่อส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีความต้องการแตกต่างกัน โดยคำนึงถึง Sub-culture Movement และ Partnership 360 ประสานความร่วมมือกับทุกพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมุ่งสู่ความยั่งยืน

สำหรับตลาดต่างประเทศ ททท. วางแผนกระตุ้นตลาดด้วย 5 ทิศทางหลัก ได้แก่ 1. เสริมภาพลักษณ์แบรนด์ท่องเที่ยวไทยด้านความยั่งยืนและใช้เป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทย 2. รุกเปิดตลาดคุณภาพใหม่ให้ท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 3. แสวงหาคู่ค้ารายใหม่และขยายความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหญ่ในเวทีโลก 4. ขยายการเดินทางเชื่อมโยงทางบกเข้าถึงประเทศไทย และ 5. ใช้ Digital Content เสริมพลังทางการตลาด

ส่วนไทยเที่ยวไทย หรือตลาดในประเทศ ททท. ให้น้ำหนักไปที่การกระตุ้นให้เที่ยวไทยทันที เพิ่มความถี่และการกระจายตัวท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น เป็น 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี เพื่อสร้างรายได้ให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการนำเสนอจุดแข็งสู่จุดขายของ Soft Power (5F) และนำเสนอสินค้าเชิงประสบการณ์ผ่านอัตลักษณ์ของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เกิดเป็น Meaningful Travel

ด้านสื่อสารการตลาด ปี 67 ยังคงดำเนินการภายใต้แบรนด์ “Amazing Thailand” โดย ททท. จะชวนคนไทยออกไปสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวครั้งใหม่ ที่เต็มไปด้วยความสุขแบบทันทีและมีความหมาย กับแคมเปญโมเมนต์ที่ใช่…สร้างได้ไม่ต้องรอ และแคมเปญ Meaningful Relationship ของตลาดต่างประเทศ

วอนรัฐบาลใหม่สานต่อนโยบาย-งบประมาณ

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนั้น ในช่วงนี้ยังไม่ส่งผลต่อภาคท่องเที่ยว มองว่า ตอนนี้ด่วนเกินไปที่จะสรุปว่าความไม่นิ่งทางการเมืองจะส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวหรือไม่ อย่างไร การท่องเที่ยวอาจเป็นปัจจัยพิเศษ ที่อาจไม่ขึ้นกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับต่างประเทศไม่ได้ฟื้นตัวพร้อมกัน ยังมีการเที่ยวล้างแค้นอยู่

“ถ้าไทยเป็นเจ้าบ้านที่ดี ประกอบกับในอดีตเคยมีประสบการณ์แบบนี้ มีเหตุการณ์ความวุ่นวายบ้างในบางพื้นที่ แต่ไทยโชคดีมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย และมีความน่ารักของคนไทย”

นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ในส่วนของความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ คือ เนื่องจาก ททท. ตั้งเป้าพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน จึงอยากให้รัฐบาลผลักดันไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เข้าใจเรื่องงบประมาณที่ล่าช้า แต่ททท. ก็อยากได้งบประมาณที่เคยจัดสรรไว้ เพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินการ

“เครื่องยนต์หลายตัวอาจสะดุดไปบ้าง แต่การท่องเที่ยวยังเดินหน้าได้ อาสาว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยากจะเป็นลมใต้ปีกที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นคืนกลับมาจากสถานการณ์โควิด-19”

นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ฝากถึงรัฐบาลใหม่ว่า อะไรที่ดีอยู่แล้ว และสามารถเดินหน้าได้ ก็อยากให้พิจารณาสานต่อ และต่อยอด ไม่ใช่รื้อของเก่าทิ้งและนับหนึ่งใหม่หมด เพราะประเทศไทยไม่มีเวลาขนาดนั้น ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ 25% ของ GDP ไทยในปี 70

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,