ข้อมูลจากกรมศุลกากรรัสเซียที่ได้รับการตรวจสอบจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ถ่านหินมูลค่าราว 14.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ผลิตขึ้นในดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ได้ถูกส่งออกไปยังตุรกี ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในปีนี้
ข้อมูลระบุว่า ระหว่างเดือนก.พ.- ก.ค. 2566 มีถ่านหินราว 160,400 ตันที่ถูกส่งจากดินแดนในแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ทางตะวันออกของยูเครนที่ถูกรัสเซียผนวกรวม ไปยังตุรกี โดยผู้ผลิตทั้ง 3 รายมีรายชื่ออยู่ในข้อมูลศุลกากรรัสเซียที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่า ได้ขนส่งถ่านหินจากทั้ง 2 แคว้นไปยังตุรกีในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ตุรกีไม่ได้ออกมาตรการจำกัดการค้ากับรัสเซียหรือดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐและสหภาพยุโรป (EU) โดยสหรัฐได้กำชับกับบริษัทต่าง ๆ ไม่ให้ช่วยเหลือรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนหรือช่วยรัสเซียในการหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2565 ตุรกี ซึ่งเป็นสมาชิกของนาโตที่สนับสนุนความพยายามของยูเครนในการขับไล่รัสเซีย ได้กล่าวยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ตุรกีให้การยอมรับบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน โดยตุรกีมีบทบาทสำคัญในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งเปิดทางไปสู่ข้อตกลงส่งออกธัญพืชผ่านเส้นทางทะเลดำ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการค้าและกรมศุลกากรของตุรกีไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว
ข้อมูลจากผู้ให้บริการข้อมูลการค้าเชิงพาณิชย์ซึ่งได้รับการตรวจสอบโดยสำนักข่าวรอยเตอร์เผยให้เห็นว่า มีถ่านหินจากผู้ผลิตอย่างน้อย 10 รายถูกส่งไปยังตุรกีระหว่างเดือนก.พ.-ก.ค. ซึ่งตุรกีเป็นจุดหมายปลายทางในการส่งออกถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดจากแคว้นที่ถูกรัสเซียผนวกรวมดินแดน โดยตัวเลขการจัดส่งดังกล่าวคิดเป็น 95% ของการขนส่งทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ตุรกี ซึ่งเป็นผู้บริโภคและนำเข้าถ่านหินรายใหญ่ กำลังสวนกระแสโลกโดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยข้อมูลระบุว่า ตุรกีผลิตไฟฟ้า 31.5 ล้านเมกะวัตต์ต่อชั่วโมงจากถ่านหินนำเข้าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 25% เมื่อเทียบรายปีกับปี 2565
ฐานข้อมูลสปาร์ค (Spark) ของบริษัทต่าง ๆ ในรัสเซียของสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ ระบุว่า ผู้ค้าถ่านหินเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในรัสเซียและในดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียผนวกรวม
ข้อมูลศุลกากรระบุว่า ผู้ซื้อเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเขตอำนาจศาลนอกชายฝั่ง รวมถึงเบลีซและหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน โดยไม่มีบริษัทตุรกีอยู่ในรายชื่อ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 66)
Tags: กรมศุลกากร, ถ่านหิน, รัสเซีย