ติ๊กต๊อกเปิดตัวบริการสตรีมมิ่งเพลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยจะเข้ามาเป็นคู่แข่งกับเจ้าตลาดเดิมอย่างสปอติฟาย (Spotify) และแอปเปิ้ล มิวสิก (Apple Music) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเพลงรายใหญ่ เนื่องจากติ๊กต๊อกพยายามหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ
ทั้งนี้ ติ๊กต๊อก มิวสิก (TikTok Music) ประกาศว่าจะทดสอบบริการในออสเตรเลีย เม็กซิโก และสิงคโปร์ หลังจากเปิดตัวในอินโดนีเซียและบราซิลไปเมื่อช่วงต้นเดือนนี้
ขณะเดียวกัน ติ๊กต๊อกได้ประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้ขยายการทำข้อตกลงด้านใบอนุญาตกับวอร์นเนอร์ มิวสิก กรุ๊ป (Warner Music Group) เนื่องจากต้องการเพิ่มคอนเทนต์มิวสิก ส่วนไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต๊อกเพิ่งยกเลิกบริการฟรีบนแพลตฟอร์มเรสโซ (Resso) ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งเพลงอีกบริการของบริษัท
แม้นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่กลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่า ติ๊กต๊อกมีข้อได้เปรียบหลายประการอย่างที่ธุรกิจสตรีมมิ่งเพลงรายอื่นไม่มีและปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ติ๊กต๊อกสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้
“ติ๊กต๊อกมีฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งผู้ใช้งานเหล่านี้สามารถกลายมาเป็นผู้ใช้บริการติ๊กต๊อก มิวสิกได้ด้วยการใช้ต้นทุนการหาลูกค้าที่ค่อนข้างต่ำ” นายโจนาธาน วู นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทฟิลลิป ซีเคียวริตี้ส์ รีเสิร์ช (Phillip Securities Research) ระบุ
ดาต้ารีพอร์ทัล (DataReportal) ระบุว่า อินโดนีเซียและบราซิลเป็นตลาดใหญ่อันดับสองและสามของติ๊กต๊อก ตามหลังเพียงสหรัฐ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานอายุ 18 ปีขึ้นไปถึง 113 ล้านรายและ 84.1 ล้านราย ส่วนเม็กซิโกเป็นตลาดใหญ่อันดับสี่ของติ๊กต๊อกด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 62.4 ล้านราย
“ติ๊กต๊อก มิวสิก จะทำให้ง่ายสำหรับผู้ใช้งานในการบันทึก ดาวน์โหลด และแบ่งปันดนตรีจากติ๊กต๊อก” นายโอล โอเบอร์แมนน์ หัวหน้าระดับโลกฝ่ายธุรกิจดนตรีของติ๊กต๊อกกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 66)