นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. ไทยพาร์เซิล เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “TPL” ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566
TPL ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง โดยบริษัทมีความชำนาญในการจัดส่งสินค้าในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก ของที่มีขนาดใหญ่ หรือมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป ปัจจุบันบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้าและสิ่งของประมาณ 350,000 – 600,000 ชิ้นต่อเดือน ด้วยยานพาหนะหลายประเภททั้งรถบรรทุก และรถกระบะ รวม 300 คัน โดยมีจุดให้บริการกว่า 120 แห่งทั่วประเทศทั้งในรูปแบบสาขาและแฟรนไชส์
กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทได้แก่ ผู้ประกอบการ โรงงาน เจ้าของผลิตภัณฑ์ ตัวแทนให้บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น ในปี 2565 บริษัทมีรายได้ตามประเภทของการจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (B2B) แบบบุคคลถึงบุคคล (C2C) และแบบธุรกิจถึงบุคคล (B2C) ในสัดส่วนร้อยละ 33 : 36 : 31 ของรายได้การให้บริการตามลำดับ
TPL มีทุนชำระหลังเสนอขาย 262 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 404 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 120 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 96 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 18 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน 6 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 22-26 มิถุนายน 2566 ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 396 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,729.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E Ratio) เท่ากับ 66 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิ 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566) เท่ากับ 27.82 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.05 บาท โดยมีบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.คิงส์ฟอร์ด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย
นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทชั้นนำทางด้านโลจิสติกส์ สร้างสรรค์ความเป็นเลิศเพื่อให้บริการจัดส่งที่ดีที่สุด รองรับการเติบโตของตลาดด้วยศูนย์กระจายสินค้า จุดรับสินค้า รถขนส่ง เทคโนโลยี และบริการเสริมต่างๆ อย่างครบวงจร ทั้งนี้เงินที่ได้จากการระดมทุนบริษัทจะนำไปลงทุนซื้อยานพาหนะ สถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์เพื่อรองรับการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้งาน ซื้อที่ดินและก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าและ/หรือจุดให้บริการ ลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
TPL มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือกลุ่มครอบครัวจีนะวิจารณะ ถือหุ้นร้อยละ 36.25 และ บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) ร้อยละ 26.73 บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของบริษัทฯ ในแต่ละปี ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 66)
Tags: TPL, ประพันธ์ เจริญประวัติ, ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา, ไทยพาร์เซิล