ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าบวกในวันนี้ (22 ก.พ.) โดยดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งสูงทุบสถิติปี 2532 เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงมาตรการมากมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นผลตอบแทนสำหรับนักลงทุน ได้หนุนให้หุ้นญี่ปุ่นพุ่งทะยานขึ้นในปีนี้ แม้ข้อมูลกิจกรรมธุรกิจของญี่ปุ่นจะอ่อนแอก็ตาม
ดัชนีนิกเกอิปิดภาคเช้าที่ระดับ 38,913.84 จุด พุ่งขึ้น 651.68 จุด หรือ +1.70% หลังพุ่งแตะ 38,924.88 จุด ณ ขณะหนึ่ง ซึ่งทุบสถิติเมื่อปี 2532 ที่ 38,915.87 จุด และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดภาคเช้าที่ระดับ 2,965.48 จุด เพิ่มขึ้น 14.52 จุด หรือ +0.49% ส่วนดัชนีฮั่งเส็งปิดภาคเช้าที่ระดับ 16,528.01 จุด เพิ่มขึ้น 24.91 จุด หรือ +0.15%
ทั้งดัชนีนิกเกอิและ Topix ของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นมากกว่าหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยปรับขึ้นกว่า 10% แล้วนับตั้งแต่ต้นปี 2567 หลังพุ่งขึ้นกว่า 25% ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ปรับขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ
ผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 3 ของบริษัทญี่ปุ่นหนุนให้นักกลยุทธ์หุ้นของแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีนิกเกอิสำหรับสิ้นปี 2567 สู่ระดับ 41,000 จุด จาก 38,500 จุด และปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนี Topix สู่ระดับ 2,850 จุด จาก 2,715 จุด
ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าบวกในวันนี้ โดยฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไร หลังจากตลาดเปิดลบเมื่อเช้านี้
ผลสำรวจแสดงให้เห็นในวันนี้ (22 ก.พ.) ว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวลงเพิ่มเติมและภาคบริการขยายตัวแบบชะลอลงในเดือนก.พ. ซึ่งบ่งชี้ว่าภาวะธุรกิจย่ำแย่ลงในขณะที่ญี่ปุ่นพยายามดิ้นรนให้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นจาก au Jibun Bank ปรับตัวลดลงสู่ 47.2 ในเดือนก.พ. จาก 48.0 ในเดือนม.ค.
ดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัวและหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แล้ว
ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นปรับตัวลดลงสู่ 52.5 ในเดือนก.พ. จาก 53.1 ในเดือนม.ค. แม้อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันมานับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 ซึ่งดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว
ด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้น ลดลงสู่ 50.3 ในเดือนก.พ. จาก 51.5 ในเดือนม.ค.
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ในการประชุมวันนี้ (22 ก.พ.) ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันครั้งที่ 9 และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้ากว่าที่คาดการณ์และหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 67)
Tags: ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นเอเชีย