ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเพิกถอนบริษัทมากสุดในรอบ 11 ปี หันเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

จำนวนบริษัทที่ถูกถอดออกจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange – TSE) ปีนี้ อาจมีจำนวนมากถึง 94 บริษัท ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจาก TSE หันไปให้ความสำคัญกับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนมากกว่าปริมาณ

นิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า TSE และนักลงทุนต่างผลักดันการยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด เนื่องจากคาดหวังว่าการยกระดับคุณภาพอาจปูทางไปสู่การลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น

TSE ควบรวมกิจการกับตลาดหลักทรัพย์โอซาก้าในปี 2556 และดำเนินรูปแบบการซื้อขายที่บังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการถอดบริษัทออกจากการซื้อขายนั้นเกิดขึ้นในทั้งสามตลาดรวมกัน ได้แก่ ตลาด Prime, Standard และ Growth โดยจำนวนบริษัทที่จะถูกถอดออกจากตลาดในปีนี้มีจำนวนมากกว่าปีที่แล้วอยู่ 33 บริษัท

ส่วนการจดทะเบียนใหม่ในปีนี้จะมีเพียง 80 บริษัทเท่านั้น เนื่องจากภาวะการซื้อขายที่ซบเซาในตลาด Growth โดยจำนวนบริษัทจดทะเบียน ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 3,842 บริษัท ลดลงจากปีก่อน 1 บริษัท

ทั้งนี้ การที่บริษัทจำนวนมากถอนหุ้นออกจากตลาดนั้นมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอิสระในการบริหารจัดการ หรืออาจมีสาเหตุมาจากการที่บริษัทเหล่านั้นถูกซื้อกิจการโดยธุรกิจอื่นหรือกองทุนการลงทุน

นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนยังเผชิญกับแรงกดดันจากตลาดที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการที่ TSE กำลังส่งเสริมการปฏิรูปเพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับตลาดญี่ปุ่น โดยในปี 2565 ทาง TSE ได้ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับบริษัทที่ต้องการรักษาสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียน และต่อมาในปี 2566 TSE ได้ขอให้บริษัทต่าง ๆ บริหารจัดการธุรกิจโดยคำนึงถึงต้นทุนและราคาหุ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 67)

Tags: