ทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเหลือเชื่อในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) เมื่อหุ้นที่เคยได้รับความนิยมมากที่สุดและหุ้นที่ถูกนักลงทุนเมินมากที่สุดเกิดการสลับตำแหน่งกันในวันดังกล่าว ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าทิศทางดังกล่าวอาจเป็นผลดีต่อตลาดในวันข้างหน้า
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำและทำผลงานย่ำแย่ในปี 2567 ทะยานขึ้นกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี และในวันเดียวกันนั้นเอง หุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั้ง 7 แห่ง หรือ “Magnificent Seven” กลับร่วงลงถ้วนหน้า โดยหุ้นอินวิเดีย ดิ่งลงกว่า 5% และหุ้นแอปเปิ้ล ร่วงลง 2.3% ส่งผลให้ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ
บีสโป๊ก อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป (Bespoke Investment Group) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยของสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เพื่อแสดงให้เห็นว่าปรากฎการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้นในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐ
ข้อมูลของบีสโป๊กระบุว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีถือเป็นครั้ง 2 นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ซึ่งในเวลานั้นดัชนี Russell 2000 พุ่งขึ้นกว่า 3% สวนทางกับดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวลง ขณะดัชนี Nasdaq ทำผลงานย่ำแย่กว่าดัชนี Russell 2000 เช่นกัน โดยร่วงลงกว่า 5% และเป็นการดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ปัจจัยขับเคลื่อนตลาดส่วนใหญ่มาจากแรงซื้อหุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าหุ้นที่จะเป็นแรงผลักดันตลาดนั้นอาจกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่กลุ่ม
เอ็ด ยาร์เดนี นักวิเคราะห์จากบริษัท ยาร์เดนี รีเสิร์ช (Yardeni Research) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Closing Bell” ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “วันพฤหัสบดีที่ 11 ก.ค.ถือเป็นวันที่มีความสำคัญ เพราะเป็นวันที่นักลงทุนย้ายการลงทุนออกจากหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven ไปยังหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ในตลาด และผมไม่คิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะฉุดดัชนี S&P500 ให้ปรับตัวลงอีก”
ปรากฎการณ์ย้ายกลุ่มการลงทุนเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อประจำเดือนมิ.ย.ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ย. และพากันเข้าซื้อหุ้นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ ซึ่งส่งผลให้ดัชนี Russell 2000 พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางความหวังที่ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้ธุรกิจของบริษัทขนาดเล็กฟื้นตัวขึ้น
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 3.3% ในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% จากระดับ 3.4% ในเดือนพ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 67)
Tags: ตลาดหุ้นสหรัฐ, นักลงทุน, วอลล์สตรีท