นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดบ้านมือสองเริ่มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ปี 65 เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และ ค่าจดจำนอง ซึ่งยังได้รับสิทธิต่อเนื่องมาจนถึงปี 66 อีกทั้งบ้านใหม่ทำเลดีมีราคาแพงขึ้น หรือไม่สามารถหาซื้อได้แล้ว ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ยังมีดีมานด์ของบ้านทำเลไม่ไกลและไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนั้น บ้านมือสองจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะราคาต่ำกว่าบ้านใหม่ในทำเลเดียวกันถึง 20-30%
ตลาดบ้านมือสองนับว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์จากต้นทางที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วประเทศมีสัดส่วนประมาณ 60% ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ ประมาณ 240,000 หน่วย มูลค่าราว 3 แสนล้านบาท โดยคาดว่าอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 100,000 หน่วย มูลค่า 2 แสนล้านบาท
แต่จากผลการสำรวจการประกาศขายบ้านมือสองทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ตลาดนัดบ้านมือสองของ REIC และเว็บไซต์ที่สำคัญ พบว่าในไตรมาส 3/66 มีการประกาศขายบ้านประมาณ 144,000 หน่วย มูลค่า มูลค่า 9.87 แสนล้านบาท เพิ่มสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา 1.5% สำหรับจำนวนหน่วย และ 3.1% ในด้านของมูลค่า โดยประเภทบ้านมือสองที่มีการประกาศขายมากที่สุด คือ บ้านเดี่ยว 40% ห้องชุด 30% และทาวน์เฮ้าส์ 25%
ข้อสังเกตว่าระดับราคาบ้านมือสองที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีการประกาศขายมากที่สุด สำหรับพื้นที่ที่มีการประกาศขายบ้านมือสองมากที่สุด คือพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีสัดส่วนในการประกาศขายมากที่สุด ส่วนจังหวัดอื่นที่มีการประกาศขายสัดส่วนสูงใน 10 อันดับแรก เป็นจังหวัดขนาดใหญ่และจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในปี 67 ภาวะการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองคาดว่าจะปรับตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของคนในประเทศ จากผลกระทบของปัจจัยลบต่างๆ เช่นเดียวกับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศ
นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า แนวโน้มทรัพย์รอการขาย NPA ในตลาดยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากทิศทางของกลุ่มลูกค้าจากสถาบันการเงินที่เป็น NPL ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสภาวะของความสามารถในการชำระหนี้ที่ยังเผชิญกับปัจจัยกดดันของรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ ประกอบกับยังมีกลุ่มที่สิ่นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้ที่จะเป็น NPL เข้ามา ส่งผลให้ NPA ยังมีทิศทางปรับขึ้นไปมากกว่า 1.63 แสนล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อบ้านมองว่ายังคงทรงตัวหรือเติบโตได้เล็กน้อย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต่างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจผันผวน ประกอบกับความเสี่ยงในด้านหนี้สินครัวเรือนสูง ส่งผลกระทบต่อการประเม์นความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต่างมองหาผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ทำให้มีการหันไปรุกสินเชื่อประเภทอื่นแทน ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อบ้านจะไม่ได้มีการรุกและทำแคมเปญโปรโมชั่นดอกเบี้ยมากเหมือนในอดีต
ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูงในปัจจุบันยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อและตัดสินใจกู้ของลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้าน ส่งผลให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อบ้านไม่ได้มีการเติบโตมากเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม สมาคมสินเชื่อบ้านมองเห็นโอกาสของตลาดบ้านมือสองที่กทาซื้อบ้านมือสองในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 66 ถือเป็นโอกาสทองของผู้บริโภค เนื่องจากราคาบ้านมือสองจะมีราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่ 20-30% และอยู่ในทำเลที่ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ได้ในปัจจุบัน ที่สำคัญต้นทุนการก่อสร้างบ้านใหม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อเนื่องจากราคาที่ดิน ราคาวัสดุและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินได้ขยายช่องทางการทำตลาดบ้านมือสองผ่านผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายและการเข้าถึงของผู้บริโภคมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 1% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01% ครอบคลุมถึงการซื้อขายบ้านมือสองราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุลงในสิ้นปี 66 และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต่ออายุมาตรการออกไปหรือไม่ ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินพยายามเร่งระบาย NPA ออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดทั้งโปรโมชั่นราคาพิเศษ พร้อมเงื่อนไขสินเชื่อที่จูงใจ
โดยงาน Home-Loan-NPA Grand Sale 2023 มหกรรมสินเชื่อบ้านและบ้านมือสองแห่งปี ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2566 ณ Event Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการขายทรัพย์รอการขายในระบบสถาบันการเงิน และประชาสัมพันธ์บริการสินเชื่อเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์มือสอง รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเลือกซื้อบ้านมือสองจากสถาบันการเงิน ด้วยโปรโมชั่นลดกระหน่ำส่งท้ายปี พร้อมเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีที่สุด สำหรับการซื้อ NPA เพื่ออยู่อาศัยและการลงทุน
“การซื้อบ้านมือสองในช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการซื้อเพื่ออยู่อาศัยและซื้อเพื่อการลงทุน ด้วยจำนวนสินค้าที่มีให้เลือกมากมาย ตามโลเคชั่นที่ลูกค้ามีความต้องการ ในราคาส่วนลดพิเศษและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และยังได้สิทธิ์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท” นายอลงกต กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 66)
Tags: ตลาดบ้านมือสอง, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, วิชัย วิรัตกพันธ์, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์