นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของธนาคารรายใหญ่สหรัฐในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร หลังจากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ได้สร้างความตื่นตระหนกในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เจพีมอร์แกน, เวลส์ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป, แบล็กร็อก, และพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิส กรุ๊ป จะรายงานผลประกอบการในวันศุกร์ที่ 14 เม.ย.นี้
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ระบุว่า ความเสี่ยงที่อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารนั้น ยังคงอยู่ในกรอบจำกัด นอกเสียจากว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังคงยืดเยื้อ
การล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ได้ส่งผลให้ภาคธนาคารของสหรัฐเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่น และนำไปสู่การแห่ถอนเงินฝาก หรือ bank run ในธนาคารระดับภูมิภาคหลายแห่งของสหรัฐ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ตาม
“การดำเนินงานของธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐที่ถดถอยลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ภาคธนาคารสหรัฐเผชิญความเสี่ยงมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยขณะนี้อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอยู่ที่ Aaa และแนวโน้มมีเสถียรภาพ” มูดี้ส์ระบุในแถลงการณ์
ทั้งนี้ แม้มูดี้ส์ไม่คาดว่าวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนด้านการคลังของรัฐบาลสหรัฐ แต่หากวิกฤตการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจและสถานะการคลังของสหรัฐอ่อนแอลง
ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า กฎระเบียบด้านการควบคุมและกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐจำเป็นต้องได้รับการประเมินใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะสามารถป้องกันความเสี่ยงในระบบ หลังจากการล้มละลายของ SVB และ SB
ขณะที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับธนาคารขนาดกลาง โดยระบุว่าอาจมีการผลักดันกฎระเบียบดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้โดยไม่ต้องผ่านการสนับสนุนจากสภาคองเกรส
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวกล่าวว่า กฎระเบียบใหม่นี้ครอบคลุมถึงการกำหนดให้ธนาคารที่มีสินทรัพย์ 1-2.50 แสนล้านดอลลาร์ ต้องเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง, เพิ่มเงินทุน และเข้ารับการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 66)
Tags: SVB, ธนาคาร, ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์, ล้มละลาย