นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
เฟดมีกำหนดจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง และจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 27.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 28,000 ราย สู่ระดับ 261,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพ.ค.ในวันที่ 13 มิ.ย. ก่อนที่เฟดจะแถลงมติการประชุมในวันพุธที่ที่ 14 มิ.ย.ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 15 มิ.ย.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปและดัชนี CPI พื้นฐานจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด
ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ECB มีกำหนดจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15 มิ.ย. ขณะที่ผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 15 มิ.ย. และคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ในวันที่ 27 ก.ค.
ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน ขณะที่นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า ECB จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
BOJ มีกำหนดจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมครั้งนี้ โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับ 0%
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOJ อาจส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อกำลังดีดตัวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ BOJ จะปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในการทบทวนรายไตรมาสที่จะมีขึ้นในเดือนก.ค.
อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้แนวโน้มว่า BOJ จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ จนกว่าค่าจ้างจะมีการขยายตัวอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 66)
Tags: BOJ, ECB, Fed, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางสหรัฐ, นักลงทุน, ประชุมนโยบายการเงิน, เฟด