นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.ยังไม่เห็นเหตุผลที่จะใช้มาตรการห้ามทำ Short Sell เหมือนอย่างที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ได้ออกคำสั่งห้ามทำ Short Sell อย่างไรก็ตาม ตลท.ได้ศึกษาข้อมูลทุกด้าน หากเกิดอะไรในจุดที่เราเชื่อว่าจะทำให้ตลาดหุ้นมี Stability ได้ ตลาดฯก็จะพิจารณา
“การที่ตลาดฯ จะแก้ไข Mechanism อย่าง Short Sell โปรแกรมเทรดดิ้ง เราจะใช้ความเชื่อไม่ได้ เราต้องดูที่ข้อมูล ข้อมูลต่างๆ ส่อให้เห็นพฤติกรรมที่เราคิดว่าเป็นเหตุผลเป็นตัวหลักที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียบของตลาด หรือ การที่ทำให้ตลาดบิดเบือน มันเป็นจริงไหม ซึ่งเรื่องพวกนี้เราทำมาตลอด และไม่ได้ทำคนเดียว ทั้งเรา และ ก.ล.ต.ทำทั้งคู่ เอาข้อมูลมาเปรียบเทียบเสริมกันเสมอ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวันนี้เราไม่มี Action อะไรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Shot Sell ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โปรแกรมเทรดดิ้ง โดยมีการสอบถามบริษัทสมาชิก สอบถามนักลงทุน”
นายภากร ยังกล่าวว่า กรณีที่มีการพูดกันว่ามี Naked Short Sell จากต่างประเทศ ถ้ามาดู 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าไม่ได้เกิดขึ้นในปีนี้เลย ส่วนปี 65 มี 1 เคส และ 2 ปีก่อนมี 2 เคส ขอย้ำว่า ตลท.ติดตามมาตลอด ที่สำคัญ Naked Short Sell เป็นสิ่งที่ ตลท.ไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก็ห้ามไม่ให้ทำ Naked Short Sell ทั้งนี้ ตลท.เฝ้าดูทุกวัน ทุก Transaction โดยเฉพาะ Transaction แปลกๆ โดยโปรแกรมเทรดดิ้งปัจจุบันมีประมาณ 30% ของวอลุ่มเทรด แต่ High-Frequency Trading (HFT) มีประมาณ 10% ตลท.ได้มีการตรวจสอบโดยตลอด
“อยากให้มั่นใจเรื่อง Infrastructure , Market Microstructure ของตลาด ทางเราให้ความสำคัญ เราใช้ช้อมูลตลอด ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่ได้ใช้ข้อมูลวิเคราะห์เหมือนเดิม เรามีการวิเคราะห์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวเราจะเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เราทำเพิ่มคืออะไร ขอยกตัวอย่าง สมัยก่อน จับให้ได้แล้วก็ฟ้องร้อง ในอนาคต เราจะทำยิ่งกว่านั้น เราจะใช้ AI เอาข้อมูลทั้งหมดมาดูแล้วให้ข้อมูลมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้หุ้นที่ Short มากที่สุดคือหุ้นอะไร หรือ อะไรใน 10 หุ้นที่มีชื่อในโปรแกรมเทรดดิ้งมากที่สุด Information จะให้มีมากขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าผิด เป็นการบอกว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นนักลงทุนควรระวัง นี่คือสิ่งที่ในอนาคตจะเป็น ไม่มีทางที่ Regulator จะออกกฎได้ทันกับการกระทำความผิด แต่สิ่งที่ทำได้ เป็นเรื่องข้อมูล การให้ Awareness ซึ่งนักลงทุน หรือคนที่เกี่ยวข้องเอาข้อมูลไปวิเคราะห์ เอาไปใช้ตัดสินใจในการลงทุนให้มากขึ้น”ผู้จัดการ ตลท. กล่าว
นายภากร ยังกล่าวถึงหุ้น IPO ที่ระยะหลังราคาเทรดวันแรกปรับตัวลงไปมากว่า เหตุผลหลักที่หุ้น IPO ไม่ดี เพราะดีมานด์ไม่ค่อยมี Sentiment ไม่ดี ราคาจึงผันผวน Sentiment ตลาดหุ้นไทยเป็นลบ นักลงทุนต่างชาติหายไป นักลงทุนสถาบัน เงินลงทุนระยะยาวหายไปจากตลาด ประกอบเกิดเคสหุ้นบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และหุ้นบมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ทำให้ Sentiment ไม่ดี ซึ่ง ตลท.พยายามแก้ไขแล้วแต่ก็ต้องใช้เวลาที่จะดึงความมั่นใจกลับมา
“ตลาดฯ เริ่มให้ข้อมุลมากขึ้นรวมทั้งหุ้น IPO แต่ไม่ได้รับประกันว่าสิ่งที่ตลาดฯ ทำจะช่วยแก้ไขปัญหาหมด แต่ทำให้เหตุการณ์เกิดยากขึ้น และทำให้ตลาดของเรามีข้อมูลต่างๆ ที่จะทำให้นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ดีขึ้น”
ส่วนการขยายเวลาเทรด ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา และการเปิดรับฟังข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลท.ยังต้องพิจารณาว่าประโยชน์ที่จะได้เมื่อเทียบกับต้นทุนของอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร
ส่วนหุ้นกู้ ตลท.และ ก.ล.ต.ให้ความสำคัญมาก โดยกำลังปรับปรุงข้อมูลว่า บริษัทใดออกหุ้นกู้ใหม่ก็ต้องมีการแจ้งในระบบ ซึ่งกำลังเชื่อมต่อข้อมูลจาก ตลท.ไปที่ตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 66)
Tags: ตลท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ภากร ปีตธวัชชัย