นายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการเสวนา “เดินหน้าอย่างไรในวันที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้- Sustainable Driver for Meaningful Growth” ว่า ตลท.กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร (SET Sustainability Framework) ผ่านมุมมองใน 4 เรื่องหลักของ UN Sustainable Development Goals (SDGs) ได้แก่ อุตสาหกรรม นวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน, ลดความเหลื่อมล้ำ, แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็น SET-ESG in action ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่
- Purposeful Organization หรือ การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน โปร่งใส รอบด้าน เท่าเทียม เป็นธรรม บริหารความเสี่ยง พัฒนานวัตกรรม
- Prosperity with Sustainability หรือการสร้างคุณค่าตลาดทุน ส่งเสริม กำหนดมาตรฐาน ให้คำปรึกษา ประเมินผล ยกย่อง
- People at SET หรือ การพัฒนาและดูแลพนักงาน เสริมสร้างความสามารถ ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต
- Public หรือ การพัฒนาและดูแลสังคม แลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุน เชื่อมโยง เครือข่าย
- Planet หรือ การจัดการสิ่งแวดล้อม นโยบาย โครงสร้าง กระบวนการ มาตรฐาน ความคุ้มค่า ลดผลกระทบ
นายไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอส พี วี ไอ (SPVI) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า ในส่วนตลาด mai ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ
- Inspiration ผ่านการสร้าง Facebook Platform ที่เปิดภายใต้สมาคมบริษัทจดทะเบียนตลาด mai มีวัตถุประสงค์นำ CEO ของแต่ละบริษัทมาแชร์ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับ SMEs นักลงทุน และนักวิเคราะห์ ซึ่งจะแตกต่างจากการนำเสนอผลประกอบการใน OPPDAY
- Coaching&Social โดยระดมพล CEO เข้ามาทำ Coaching ให้กับบริษัทที่เป็น Social Enterprise, การทำ Art for Cancer, Virtual Run, Care the Whale, Care the Wild
- Networking โดยมองในเรื่องของการสร้างศัพยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ หรือแตกต่างของบริษัท และก้าวสู่อนาคตไปด้วยกัน
ด้านบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ นายนุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บมจ.โอสถสภา (OSP) กล่าวว่า OSP Sustainability Framework จะคล้ายกันกับหลายๆ บริษัท โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ 1. Our Business โดยในแง่ของธุรกิจครื่องดื่ม จะคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงให้แก่ลูกค้า 2. Our Society และ 3. Our Environment อย่างไรก็ตามใน 3 เรื่องดังกล่าว สิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุด คือเรื่องของ คน ทั้งคนในบริษัท เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้เหมือนๆ กัน และคนนอกบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าบรรลุ Sustainability ไว้ภายในปี 68 ทั้งเรื่องของ Sustainable Supply Chain, Water Management โดยตั้งเป้าลดการใช้น้ำ 40% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันก็มาได้เกือบครึ่งทางแล้ว, Energy Climate Change Management ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานลง 10% และลดการใช้ Green House Gas ลง 15%, Consumer Health&Well-being ตั้งเป้าลดน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ลง หรือ 100% ของพอร์ตโฟลิโอจะต้องมีการใช้น้ำตาลน้อยลง และ 50% ของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ Confectionery ในพอร์ตโฟลิโอจะต้องเป็น Sugar Free และในเรื่องของ Sustainable Packaging ตั้งเป้าภายในปี 73 ผลิตภัณฑ์จะสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด และลดน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ลงให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทได้ตั้งเป้าเป็น Zero Waste to Landfill ซึ่งสามารถทำได้แล้ว และมีการตั้งโรงงานรีไซเคิลที่สระบุรี รวมถึงการนำแพ็คเกจจิ้งที่ออกไปสู่ผู้บริโภคกลับมาให้ได้และรีไซเคิลเพื่อลดต้นทุน
น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ในฐานะนักลงทุนสถาบัน ก็มีความเชื่อว่าการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนได้ เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและภายในธุรกิจ และยังช่วยแยกแยะและเพิ่มโอกาสการลงทุนด้วย
โดยรายงานของ Global Sustainable Investment Trend in the Past 5 Years ในปี 63 เห็นได้ว่าการลงทุนโดยใช้หลักการ ESG ใน 5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตถึง 50% และเมื่อมาดูในรายภูมิภาค พบว่า ทุกภูมิภาคก็มีการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนในด้านนี้อย่างชัดเจน ส่วนในทวีปยุโรป พบว่า มีการเติบโตน้อยลงกว่าทวีปอื่น ทั้งๆ ที่เป็นผู้นำในด้านนี้ เนื่องจากในปี 63 ทางหน่วยงานกำกับดูแลได้มีการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการทำภาพลักษณ์ที่เป็นการลงทุนแบบยั่งยืน ทำให้มีสินทรัพย์บางส่วนโดนเอาออกจากการลงทุนแบบยั่งยืน
พร้อมกันนี้หลังจากนำหลักการลงทุนแบบยั่งยืนมาใช้กันอย่างแพร่หลาย พบว่า ปัจจุบันโดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของมูลค่ากองทุนทั่วโลกยังเป็นการลงทุนแบบ Sustainable Investment ขณะที่ในไทย สัดส่วนการลงทุนใน ESG มีน้อยมาก หรือคิดเป็น 3.4% ของมูลค่าการลงทุนกองทุนรวมหุ้น ที่มีอยู่ 1.8 ล้านล้านบาท หรือมีการลงทุนใน ESG เพียง 6 หมื่นกว่าล้านบาท
ขณะที่มองกระแส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้รับความสำคัญและสนใจเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกคนได้รับผลกระทบร่วมกัน การตั้งเป้าหมายร่วมกันก็จะทำได้ชัดเจนกว่าด้านอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นดังกล่าวจะได้รับความสนใจในวงกว้าง แต่ประเทศไทย ที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ธรรมาภิบาล เนื่องด้วยหากบริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดี ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมในเชิงนโยบายที่ดีได้ด้วย และมีประสิทธิภาพ ประกอบกับภาครัฐ การเปิดเผยข้อมูลและเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้าน E และ S ซึ่งการเก็บข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูลอาจจะยังค่อนข้างจำกัด ไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ยากต่อการเปรียบเทียข้อมูลระหว่างบริษัท
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ ESG สิ่งที่ควรระวังคือ การสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม หรือ ธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องติดตามว่ามีการทำตามนโยบายหรือไม่ หรือวัดผลว่าเป็นอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 65)
Tags: ESG, การลงทุน, ตลท., อภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า