คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งให้ บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง (TRITN) จัดให้มีรายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการเพื่อการพักผ่อนและนันทนาการ “The Haven” และให้นำส่งรายงานดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าด้วยการเผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะต้องให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาอย่างเพียงพอในการพิจารณารายงานดังกล่าว
ตามที่คณะกรรมการ TRITN มีมติรับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท บ้านไร่เตชะอุบล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งจะมีผลให้ได้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 732-2-90.7 ไร่ และจะชำระค่าตอบแทนเป็นหุ้นเพิ่มทุน 1,400 ล้านบาทให้แก่ผู้ถือหุ้น บ้านไร่เตชะอุบล โฮลดิ้ง คิดเป็นสัดส่วน 49.18% ของทุนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนนี้ โดย TRITN จะพัฒนาโครงการเพื่อการพักผ่อนและนันทนาการ (โครงการ The Haven) มูลค่ารวมไม่เกิน 2,290 ล้านบาท รายการดังกล่าวเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน และมีขนาดรายการตามเกณฑ์รายการได้มาซึ่งสินทรัพย์เท่ากับ 99.73% โดยได้กำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการทำรายการดังกล่าวในวันที่ 9 ม.ค.68
ต่อมา ตลท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ให้ TRITN ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม อีกทั้ง ตลท.ได้พิจารณาข้อมูลที่ TRITN ชี้แจงและข้อมูลในหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น รวมถึงความเห็นของ IFA ที่ TRITN เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.67 แล้วและเห็นว่ายังมีข้อมูลที่ไม่ชัดเจนเพียงพอต่อการพิจารณาของผู้ถือหุ้น โดยรายการดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็น Backdoor Listing ที่ต้องยื่นคำขอต่อ ตลท. เพื่อพิจารณาว่าหลังรับโอนกิจการแล้ว TRITN ยังมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ผู้ถือหุ้นหรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน คณะกรรมการ ตลท. โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ สั่งให้ TRITN ดำเนินการดังนี้
1. ให้บริษัทจัดให้มีรายงานความเห็น IFA เพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องดังต่อไปนี้
1.1 การได้มาของที่ดินในส่วนที่จะใช้พัฒนาโครงการ การโอนเปลี่ยนมือและแบ่งแยกโฉนดย้อนหลังของที่ดินผืนนี้และที่ดิน 2 แปลงของนายสดาวุธ เตชะอุบล และบริษัท อีดีพี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มีผู้ถือหุ้นคือกลุ่มเตชะอุบล) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่จะใช้พัฒนาโครงการแต่ TRITN ไม่ได้ซื้อเข้ามา โดยให้ระบุชื่อผู้โอน ผู้รับโอน และวันที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย ทั้งนี้ ให้มีข้อมูลย้อนหลังไปถึงวันแรกที่บุคคลในกลุ่มเตชะอุบลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ที่ดินดังกล่าวมา
1.2 ขนาดรายการ กรณีใช้สมมติฐานค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditure) ตามความเห็นของ IFA และขอให้วิเคราะห์เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ IFA กำหนดกับที่ TRITN กำหนดไว้ แยกเป็นแต่ละรายการโดยละเอียด พร้อมทั้งให้ระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่แน่นอนแล้วหรือเป็นเพียงประมาณการค่าใช้จ่าย รวมถึงอธิบายความสมเหตุสมผลและความเพียงพอของแต่ละรายการด้วย
1.3 ขนาดรายการ กรณีรวมที่ดินทั้งหมด (คือ รวมที่ดิน 2 แปลงข้างต้นด้วย) ตามข้อ 1.1 และกรณีใช้สมมติฐานค่าใช้จ่ายในการลงทุนตามข้อ 1.2 ที่คำนวณโดยใช้งบการเงินไตรมาสที่ 2/67 รวมถึงให้คำนวณโดยใช้งบการเงินไตรมาสที่ 3/67 ด้วย
1.4 Dilution effect ของผู้ถือหุ้นและการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุม เนื่องจากบริษัทเปิดเผยเรื่องแหล่งเงินทุนที่ใช้พัฒนาโครงการ โดยเปลี่ยนจากเงินกู้ทั้งจำนวนเป็นเงินทุนที่ไม่มีดอกเบี้ยบางส่วน เช่น การเพิ่มทุนบางส่วน
1.5 ผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ลงทุน หากรายการนี้จัดเป็น Backdoor Listing ที่จะต้องมีการยื่นคำขอให้พิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่
1.6 ข้อมูลอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในการพิจารณาออกเสียงลงคะแนนเกี่ยวกับการเข้าทำรายการดังกล่าว
2. ให้ TRITN นำส่งรายงานความเห็น IFA ตามข้อ 1. ให้แก่ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาเพียงพอในการพิจารณา (อย่างน้อย 3 วันทำการก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น) โดยเผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ หาก TRITN ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งข้างต้น คณะกรรมการ ตลท.อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 171 (2) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในการกำหนดให้หยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ TRITN เป็นการชั่วคราว (SP) ตั้งแต่ช่วงเวลาการซื้อขายถัดจากที่ TRITN จัดการประชุมผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้จัดให้มีข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นตามที่มีการสั่งการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 68)
Tags: TRITN, ตลท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บ้านไร่เตชะอุบล, ไทรทัน โฮลดิ้ง