สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภัยสังคม ณ วันนี้” โดยเมื่อถามว่าประชาชนเคยพบภัยสังคม “มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์” หรือไม่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40.19% เห็นจากข่าวทางสื่อต่าง ๆ รองลงมา ญาติพี่น้อง/คนรู้จักเคยพบ 32.87% ส่วนอีก 21.02% เคยพบด้วยตนเอง และอีก 5.92% ไม่เคยพบ
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่ามิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นภัยต่อสังคมมากน้อยเพียงใด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 86.90% ระบุว่าเป็นภัยสังคมอย่างมาก รองลงมา 12.93% ระบุว่าค่อนข้างเป็นภัยสังคม และมีเพียง 0.17% ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นภัยสังคม/ไม่ค่อยห่วง
เมื่อถามว่า สาเหตุใดที่ทำให้มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักและแก้ไขยาก พบว่า อันดับ 1 ตอบว่า มีวิธีการหลอกลวงที่ทันสมัย ไม่ต้องแสดงตัวตน อันดับ 2 ตอบว่า มีเครือข่ายรายใหญ่ข้ามชาติ อันดับ 3 ตอบว่า ผลประโยชน์และเงินจากการหลอกลวงจำนวนมาก อันดับ 4 ตอบว่า ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จับกุมไม่หมด อันดับ 5 ตอบว่า คนทำไม่เกรงกลัวกฎหมาย
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าควรมีวิธีป้องกันแก้ไขปัญหามิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไร อันดับ 1 ตอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจัดการกับต้นตอ กวาดล้างให้สิ้นซาก อันดับ 2 ตอบว่า ประชาชนต้องมีสติ ไม่หลงเชื่อ ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว อันดับ 3 ตอบว่า รัฐประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ช่วยกันบอกต่อ อันดับ 4 ตอบว่า ห้ามโอนเงินให้กับคนไม่รู้จักโดยเด็ดขาด อันดับ 5 ตอบว่า กฎหมายเข้มงวด มีบทลงโทษที่เด็ดขาด
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าใคร/หน่วยงานใด ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ อันดับ 1 ตอบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันดับ 2 ตอบว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อันดับ 3 ตอบว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อันดับ 4 ตอบว่า สถาบันการเงิน ธนาคาร และอันดับ 5 ตอบว่าสื่อมวลชน
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,221 คน ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 65)
Tags: มิจฉาชีพ, สวนดุสิตโพล, แก๊งคอลเซ็นเตอร์