สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยแพร่บทความ เรื่อง “ดุลการชำระเงิน VS ดุลการค้า สัญาณแนวโน้มค่าเงิน และการลงทุนในตลาดทุน” โดยระบุว่า ผู้ลงทุนต่างชาติ มีอิทธิพลกับการปรับตัวขึ้น-ลง ของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่มีเงินทุนมหาศาล การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้า-ออก จึงมีผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเนื่องจากขนาดของเงินกองทุนขนาดใหญ่นี้เอง ที่ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติมีการบริหารการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ในลักษณะของการดูภาพรวมทางเศรษฐกิจ และแปลผลออกมาเป็นการเพิ่ม หรือลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละประเทศตามสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่ผู้ลงทุนต่างชาติใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจนั้น มีเป็นจำนวนมาก แต่ตัวแปรทางเศรษฐกิจบางตัวที่ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อการกำหนดผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นของผู้ลงทุนต่างชาติโดยตรง นั่นคือ “แนวโน้มค่าเงินบาท”
ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวขึ้น-ลงในปัจจุบัน มีหลายตัวแปรที่เป็นปัจจัยกำหนด แต่ตัวแปรหนึ่ง ที่มีบทบาทค่อนข้างมากในการกำหนดแนวโน้มค่าเงินบาท คือ “ดุลการชำระเงิน” และ “ดุลการค้า”
-
ดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) คือ บัญชีที่จัดทำขึ้น เพื่อดูการไหลเข้า-ออก ของเงินตราต่างประเทศ จากการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ระหว่างผู้ที่มีถิ่นฐานในประเทศ (Residents) กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (Nonresidents) ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
-
ดุลการค้า (Balance of Trade) หมายถึง ผลต่างระหว่างมูลค่าสินค้าส่งออก (Export) และสินค้านำเข้า (Import) ของประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้เปรียบเทียบโดยทั่วไป คือ รายเดือน รายไตรมาส และรายปี
ทั้งนี้ “ดุลการชำระเงิน” ถือเป็นตัวกำหนดค่าเงินบาทที่สำคัญโดยตรง กล่าวคือ ถ้าดุลการชำระเงินเกินดุล แสดงให้เห็นว่ามีเงินไหลเข้าประเทศมาก ความต้องการแลกเงินบาทก็จะมีมากตามภาวะการเกินดุล และมีแนวโน้มว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องเข้ามาดูแลความผันผวนของค่าเงินบาท เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาว ผู้ลงทุนจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการแทรกแซงด้วย ในทางตรงกันข้าม หากดุลการชำระเงินขาดดุล แสดงว่ามีการชำระค่าสินค้านำเข้าหรือเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปนอกประเทศ ทำให้มีความต้องการเงินสกุลต่างประเทศมากกว่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
นอกจาก “ดุลการชำระเงิน” ที่เป็นตัวกำหนดค่าเงินบาทโดยตรงแล้ว ผู้ลงทุนยังสามารถใช้ “ดุลการค้า” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการคาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาทในอนาคตได้อีกด้วย เพราะดุลการค้า เป็นตัวสะท้อนศักยภาพในการหารายได้เข้าประเทศในระยะยาว ในขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อาจมีทิศทางไม่ชัดเจนเท่ากับดุลการค้า เนื่องจากดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกมากมาย เช่น ภาวะการเมือง เศรษฐกิจโดยรวม นโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เป็นต้น
ดังนั้น หากดุลการค้าเกินดุล ตามทฤษฎีจะชี้ให้เห็นว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่หากเริ่มขาดดุลการค้า แสดงว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง
โดยสรุปแล้ว “ดุลการชำระเงิน” เป็นตัวกำหนดค่าเงินโดยตรง เนื่องจากหมายถึงอุปสงค์และอุปทานเงินบาทที่เกิดขึ้นจริง ส่วน “ดุลการค้า” เป็นเครื่องมือในการคาดเดาทิศทาง เนื่องจากดุลการค้าเป็นตัววัดความสามารถในการหารายได้ของประเทศ ดังนั้น ในการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้ลงทุนต่างชาติ ต้องรวมผลกำไรหรือขาดทุนจากค่าเงินเข้าไปกับการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย
เช่น หากผู้ลงทุนมีกำไรในตลาดหลักทรัพย์ฯ 80% จากเงินต้น 1 ล้านบาท หรือ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สมมติว่า ขณะเริ่มลงทุน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 40 บาท) แปลว่า ปลายงวดการลงทุน ผู้ลงทุนจะมีเงินลงทุน 1.8 ล้านบาท และมีกำไรจากค่าเงินบาท 10% (ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36 บาท) จะทำให้ผลกำไรโดยรวมของผู้ลงทุนต่างชาติ เมื่อคำนึงถึงผลกระทบของค่าเงินเป็น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 100% จากเงินลงทุน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจขายของผู้ลงทุนต่างชาติ
ในขณะที่การแข็งค่าของเงินบาท จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเข้าซื้อของผู้ลงทุนต่างชาติ แต่ขอย้ำว่า “ดุลการชำระเงิน” และ “ดุลการค้า” เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในปัจจัยจำนวนมาก ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนต่างชาติ และถึงแม้เราจะเป็นผู้ลงทุนในประเทศ แต่การเข้าใจกระบวนการและวิธีคิดของผู้ลงทุนต่างชาติ จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการช่วยผู้ลงทุนในประเทศให้ตัดสินใจลงทุนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 66)
Tags: ดุลการค้า, ดุลชำระเงิน, หุ้นไทย