นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยสถิติของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.64 มีประชาชนร้องเรียนและติดต่อเข้ามารวม 48,513 ครั้ง โดยเป็นการร้องเรียนปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ถึง 33,080 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากสถิติทั้งปี 63 ที่มีจำนวน 20,619 ครั้ง
สำหรับปัญหาออนไลน์อันดับรองๆ ลงมา ได้แก่ เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 10,658 ครั้ง ปัญหาอื่นๆ สอบถามข้อสงสัย 2,798 ครั้ง ปัญหาภัยคุกคามไซเบอร์ 1,588 ครั้ง และปัญหาข้อสงสัยด้านกฎหมายไอซีที 389 ครั้ง
หากเปรียบเทียบกับข้อมูลปีก่อนหน้าพบว่าปัญหาซื้อขายออนไลน์ปรับตัวเพิ่มขินมาตั้งแต่เดือน ก.พ.64 โดยเมื่อเดือน ต.ค.ได้ประเมินสถานการณ์ปัญหาเป็นรายเดือนแล้วพบจำนวนการร้องเรียนที่ทำสถิติสูงถึง 5,476 ครั้ง
“เราได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเร่งแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค โดยเมื่อประมวลข้อมูลการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการซื้อขายออนไลน์ตั้งแต่ต้นปี รวมจำนวนเรื่องได้ทั้งหมด 10,248 เรื่อง และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 80%” นายเนวินธุ์ กล่าว
ขณะที่สถานการณ์ปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในช่วงเดือน พ.ย.64 จำนวนการร้องเรียนอยู่ที่ 4,772 ครั้ง โดยปัญหามากสุด คือ ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) ถึง 40% ตามมาด้วยสินค้าไม่ตรงปก (ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผิดสี/ขนาด ไม่ตรงตามโฆษณา) 30% นอกจากนี้ ได้แก่ ปรึกษาด้านการซื้อขายออนไลน์ 14% ได้รับสินค้าชำรุด 4% สอบถามขั้นตอนการแจ้งร้องเรียนหลักฐานที่ต้องใช้ 2% ได้รับสินค้าผิดกฎหมาย (สินค้าปลอม) 1% และได้รับสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด 1%
ด้านช่องทางการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับการร้องเรียนมากสุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก 82.1% ตามมาด้วยเว็บไซต์ 5.6% อินสตาแกรม (ไอจี) 3.5% แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) 3.3% และไลน์ 2.4%
สำหรับประเภทสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนมากสุด คือ สินค้าแฟชั่น 23.7% ของใช้ในบ้าน 20.9% อุปกรณ์ไอที 18.3% อาหารและเครื่องดื่ม 11.7% สินค้าประดับยนต์ (อุปกรณ์) 6.8% ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายที่มีการร้องเรียน 3 อันดับแรก อยู่ในช่วงราคา 1,001-2,000 บาท ตามมาด้วย 501-1,000 บาท และมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าราคาหลักหมื่นส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทไอที เช่น โทรศัพท์มือถือ
นายเนวินธุ์ กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและเป็นหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียน ก่อนประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ที่ต้องการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพทางออนไลน์ จนตกเป็นเหยื่อกลโกงรูปแบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ธ.ค. 64)
Tags: ช็อปปิ้งออนไลน์, ซื้อขายออนไลน์, ดีอีเอส, เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์