บริษัทดีลอยท์ของสหรัฐรายงานว่า เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจได้รับความเสียหายมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ภายใน 50 ปีต่อจากนี้ หากยังไม่ลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดีลอยท์ระบุว่า ในทางกลับกัน หากภูมิภาคอาเซียนยกระดับการดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้มากถึง 12.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตเฉลี่ยปีละ 3.5% ตลอด 50 ปีข้างหน้า
“ในอนาคตที่เป็นไปได้นี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ยังส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของทั้งภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก”
ดีลอยท์ระบุ
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์โมเดลจำลองของดีลอยท์เผยว่า หากไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทันเวลา ก็อาจทำให้อุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2613 ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 50 ปีต่อจากนี้ และทำให้ GDP ลดลงเฉลี่ยปีละ 7.5%
ดีลอยท์ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรรวมราว 500 ล้านคน และมีมูลค่า GDP 3 ล้านล้านดอลลาร์ โดย GDP ต่อหัวของทั้งภูมิภาคเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 5-12% นับตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)
Tags: ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซเรือนกระจก, ดีลอยท์, ภาวะโลกร้อน, สหรัฐ, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้