ดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 200 จุดในวันนี้ ขานรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ขณะที่นักลงทุนเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ต่ำกว่าคาดการณ์
ณ เวลา 20.33 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,149.19 จุด บวก 218.26 จุด หรือ 0.62%
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมวานนี้ และเฟดจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เฟดยังคงจับตาตลาดแรงงานสหรัฐ
อย่างไรก็ดี เฟดอาจส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ไทม์ไลน์ของเฟดว่า เฟดจะเริ่มปรับลด QE ในเดือนม.ค.2565 โดยจะปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE วงเงิน 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน ซึ่งจะทำให้เฟดใช้เวลา 6 เดือนในการปรับลด QE จนเหลือ 0 หมายความว่าเฟดจะยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในช่วงกลางปี 2565 และเฟดจะพักการดำเนินการเป็นเวลา 1 ปีเพื่อให้ตลาดปรับตัว ก่อนที่จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.5% ในไตรมาส 2 หลังจากที่ขยายตัว 6.4% ในไตรมาส 1
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 8.5% ในไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2526
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.3% ในไตรมาส 4/2563 หลังจากพุ่งขึ้น 33.4% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือมากกว่า 70 ปี จากการที่สหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการเปิดเศรษฐกิจ หลังจากหดตัว 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 7.0% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากหดตัว 3.4% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 400,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 424,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 380,000 ราย
ส่วนจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 3.27 ล้านราย
นอกจากนี้ ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 3.29 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 64)
Tags: ดาวโจนส์, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นสหรัฐ, ธนาคารกลางสหรัฐ